ขุนคลังเผยหารือ ธปท. เรียบร้อย ขอความร่วมมือ แบงก์รัฐ-แบงก์พาณิชย์ ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยให้นานที่สุด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในวันนี้ (10 ส.ค.) ว่าที่ผ่านมากระทรวงการคลังมีการหารือร่วมกับผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยได้ขอความร่วมมือไปยังธนาคารพาณิชย์ เช่นเดียวกันที่กระทรวงการคลังที่ได้ขอความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินของภาครัฐ ในการตรึงการขึ้นดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด 

“การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือน ที่จะส่งผ่านไปยังสถาบันการเงินในการปรับขึ้นดอกเบี้ย และดอกเบี้ยฝั่งเงินกู้มักขึ้นเร็วกว่าดอกเบี้ยฝั่งเงินฝาก เชื่อว่าสถาบันการเงิน ยังต้องพิจารณาภาวะเศรษฐกิจประกอบควบคู่ไปด้วย เพราะหากปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไป ก็อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งยอดการขยายสินเชื่อได้เช่นกัน”

ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ไม่ได้มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยลดต้นทุนของภาคธุรกิจ แต่เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง ธุรกิจเริ่มเดินได้ เศรษฐกิจเริ่มเดินได้ เครื่องมือการเงินและการคลัง ก็ต้องกลับมาใช้เครื่องมือในภาวะปกติ เช่น การจัดหารายได้ภาครัฐในการขยายฐานรายได้ การส่งเสริมการส่งออก ส่วนภาคการเงินเครื่องมือที่สำคัญ คืออัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ภาวะปกติ เครื่องมือก็ต้องทำงาน

นายอาคม กล่าวด้วยว่า ขณะที่มาตรการปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) เหลือ 0.125% ต่อปี จากเดิม 0.25% ต่อปีไปจนถึงสิ้นปี 65 นั้น ขณะนี้ยังไม่ถึงกำหนดและมีเวลา ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการขอความร่วมมือในการตรึงดอกเบี้ย เนื่องจากกรณีการนำส่งเงินเข้ากองทุนนั้นยังมีความจำเป็น และกระทรวงการคลังได้ลดการนำส่งเงินลงให้ถึง 2 ปี ซึ่งในเรื่องของดอกเบี้ยนโยบาย หากเป็นฝั่งธนาคารพาณิชย์ ก็จะดูในเรื่องของกำไรขาดทุน แต่หากเป็นในฝั่งแบงก์รัฐ จะดูในเรื่องของการสนองนโยบายของรัฐในการดูแลช่วยเหลือภาคธุรกิจและภาคประชาชนเป็นหลัก