“ขึ้นบอลลูน” เพื่อจับขอบฟ้า ครั้งหนึ่งในชีวิต

  • มูลค่าตลาดการท่องเที่ยวบอลลูนในภูมิภาคอาเซียนกว่า 700 ล้านบาท
  • โอกาสใหม่ในการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยในภูมิภาคอาเซียน
  • “เชียงใหม่”หนึ่งเดียวในไทยกับการท่องเที่ยวด้วยบอลลูน

“เราต้องการประสบการณ์ใหม่ในการเดินทางของเรา ด้วยการขึ้นบอลลูน” เจวิน (Gevin), 27, และ ไคล์(Kyle), 29, คู่ฮันนีมูนจากเมืองบอสตัน ประเทศหสรัฐอเมริกา เดินทางมาฮันนีมูนที่เชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว JNC เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา เมื่อทั้งสองขึ้นบอลลูนที่ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

เจวิน บอกว่า เธอและไคล์ เป็นคนที่กลัวความสูงทั้งคู่ แต่ก็อยากลองที่จะขึ้นบอลลูนเพราะเป็นหนึ่งในรายการที่ทั้งคู่อยากทำร่วมกันและเลือกที่จะมาขึ้นบอลลูนที่เชียงใหม่ เมื่อทั้งคู่เลือกที่จะมาฮันนีมูนที่ประเทศไทยเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
“เราเลือกมาเมืองไทยเพราะเราต้องการเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ และเราก็อยากที่จะได้ทดลองทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน ตอนแรกก็กลัวที่จะขึ้น แต่พอขึ้นไปแล้ว เรารู้สึกว่ามันมีพื้นที่ปลอดภัยในตะกร้าของบอลลูน และทำให้เราตื่นเต้นที่ได้เห็นทัศนียภาพรอบๆ ตัว ขณะลอยอยู่บนท้องฟ้า” ไคล์กล่าว

ในประเทศไทย มีผู้ประกอบการทำธุรกิจบอลลูนเพื่อการท่องเที่ยวเพียงรายเดียวที่ดอยสะเก็ต จังหวัดเชียงใหม่ โดยเริ่มต้นทำธุรกิจนี้เมื่อปี 2547 จากจุดเริ่มต้นที่มองหาโอกาสใหม่ๆ ในการทำธุรกิจหลังจากที่ลาออกจากงานหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ของนายธีรพัฒน์ ตันศุขะรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไฟล์อิ้ง มีเดีย จำกัด(Flying Media Co Ltd)

“ตอนที่ต้องออกจากงานในปี 2543 ก็มาคิดว่าเราควรจะทำอะไร ขณะที่นั่งมองไปบนถนนเห็นรถติดเราก็คิดว่าทำไมเราไม่ทำธุรกิจบนฟ้า ตอนนั้นก็คิดหลายอย่าง อย่างเครื่องบินเล็ก บอลลูน จากนั้นก็ศึกษาว่าอะไรที่น่าจะทำได้และน่าสนใจ เครื่องบินเล็กมีคนให้บริการอยู่แล้ว แต่บอลลูนในเมืองไทยยังไม่มีคนทำ จะมีก็ชาวต่างชาติที่มาทำไม่มีคนไทยทำเอง เราก็เลยตัดสินใจว่าน่าจะลองศึกษาแล้วทำดู”

ธีรพัฒน์ ใช้เวลา 4 ปีในการศึกษาและทำเรื่องขอใบอนุญาติจากสำนักงานการบินพลเรือน เพื่อทำธุรกิจนี้โดยร่วมกับทางสำนักงานการบินพลเรือนในการจัดทำหลักสูตรของนักบินบอลลูน และมาตรฐานความปลอดภัย โดยศึกษาจากมาตรฐานในสหรัฐอเมริกา และยุโรป
“ตอนเริ่มทำธุรกิจใหม่ๆ ไม่มีคนไทยขึ้นบอลลูน เพราะราคาแพง มีแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่สนใจเข้ามาใช้บริการ” ธีรพัฒน์ กล่าว

ผ่านมา 15 ปี จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขึ้นบอลลูนหลักร้อยที่ดอยสะเก็ต ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการหลักพันกว่าคน โดยปีที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มจากหลักร้อยเป็นหลักพันคือปี 2558 ปีที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาเที่ยวที่ประเทศไทยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะที่เชียงใหม่จากภาพยนต์เรื่อง The Lost in Thailand(ออกฉายเมื่อปี 2556 นับจากนั้นมาจำนวนนักท่องเที่ยวจีนก็ไหลบ่าเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะที่เชียงใหม่)
ธีรพัฒน์ เล่าว่า การท่องเที่ยวด้วยบอลลูนเป็นธุรกิจที่เติบโตมากในต่างประเทศร่วมทั้งในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปัจจุบันมีประเทศที่มีการให้บริการบอลลูนอยู่หลายประเทศ เช่น ประเทศไทย ลาว พม่า ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และมาเลเซีย ทำให้มูลค่าตลาดของธุรกิจนี้ในภูมิภาคอาเซียนมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว

จากรายงานล่าสุดของเดอะอาเซียนโพสต์(the Asean Post) ระบุว่า ตลาดการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยโดยเฉพาะบอลลูน ได้รับความนิยมในภูมิภาคอาเซียน โดยการประชุมด้านการท่องเที่ยวของสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนระบุในยุทธศาตร์การท่องเที่ยวของภูมิภาคนี้ในปี 2560 ถึงปี 2563 ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวในเชิงผจญภัยนอกเหนือจากการปีนเขา และการล่องแก่งแล้ว การท่องเที่ยวด้วยบอลลูนเป็นหนึ่งในการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยเป็นหนึ่งในการท่องเที่ยวที่น่าจะให้การสนับสนุน

ถึงแม้ว่าการล่องแก่งและการปีนเขานั้นเป็นที่นิยมมานานแล้วสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการผจญภัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่การขึ้นบอลลูน ก็กำลังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เดอะเอเซียนโพสต์รายงาน

  • ขอแต่งงานบนบอลลูนกิจกรรมยอดฮิต

นอกจากการขึ้นบอลลูนเพื่อท่องเที่ยวแล้ว กิจกรรมบนบอลลูนที่ได้รับความสนใจและตอบรับมากคือ การขึ้นไปขอแต่งงานบนบอลลูนเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยม ศศิลาภรณ์ วิถี ผู้จัดการสถานีบอลลูนของ บริษัท ไฟลายอิ้ง มีเดีย จำกัด กล่าวศศิลาภรณ์ เล่าว่า ตลอดระยะเวลากว่า 17 ปีที่เธออยู่ในธุรกิจนี้พบว่า ธุรกิจนี้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวแล้ว ยังมีการขึ้นบอลลูนเพื่อกิจกรรมอื่นๆ เช่น การขอแต่งงาน การทำเซอร์ไพร์สวันเกิด ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวและคู่แต่งงาน
“ยังไม่มีการขอแต่งงานครั้งไหนบนบอลลูนที่ไม่สำเร็จ” ศศิลาภรณ์ กล่าว
“การเดินทางด้วยบอลลูนทำให้เราได้จับก้อนเมฆ ได้ใกล้ท้องฟ้า ในแบบที่เครื่องบินทำไม่ได้ และผมเชื่อว่าเป็นฝันของหลายคนที่อยากจะได้บินขึ้นไปจับก้อนเมฆ ทำให้ผมตัดสินใจทำธุรกิจนี้ หลังจากที่ออกจากงานประจำ” ธีรพัฒน์ กล่าว

ธีรพัฒน์ ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปี ของการทำธุรกิจได้เห็นพัฒนาการของนักท่องเที่ยวที่มีความนิยมในการใช้บริการเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ว่าราคาค่าบริการจะสูงที่ 8,800 บาทต่อการบินหนึ่งชั่วโมง
นอกจากที่ประเทศไทยแล้ว ในประเทศพม่า การบินด้วยบอลลูน เหนือเมืองพุกาม เป็นอีกหนึ่งการท่องเที่ยวด้วยบอลลูนทีได้รับความนิยมด้วยจำนวนบอลลูนที่ขึ้นไปมากกว่า 40 ลูกต่อวัน เช่นเดียวกับที่นครวัดนครธม ที่กัมพูชา หรือ วังเวียงที่ลาว และปูตราจายาที่มาเลเซีย
ประมาณว่ามูลค่าตลาดของธุรกิจบอลลูนในภูมิภาคเอเซียเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 700 ล้านบาท ในปี 2561 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 14 %ของมูลค่าการท่องเที่ยวด้วยบอลลูนทั่วโลกที่มีมูลค่าอยู่ประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท ในปี2561 (ประมาณการณ์จากจำนวนผู้ให้บริการบอลลูนที่มีให้บริการในแต่ละประเทศ จำนวนวันที่ให้บริการ และราคาที่ให้บริการต่อหัวไม่นับรวมงานแสดงบอลลูนในแต่ละปีที่มีมูลค่าการจัดงานและการแสดงบอลลูนอีกหลายพันล้านบาท)

เดอะเอเซียนโพสต์ ระบุว่า โอกาสทางการตลาดสำหรับการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยด้วยบอลลูนมีโอกาสที่จะเติบโตอย่างมากในภูมิภาคอาเซียน จากศักยภาพของภูมิประเทศ ที่มีความแตกต่าง ซึ่งน่าจะมีผลทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวของภูมิภาคนี้ที่มีมูลค่ารวมประมาณ 135,800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 4.14 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.9 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ในปี 2560 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น


“ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการขึ้นบอลลูนถึงแม้พวกเราจะกลัวความสูง แต่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอน เพราะการขึ้นบอลลูนทำให้เราก้าวออกจากโซนปลอดภัยของเรา และเดินออกมาสู่โลกกว้างที่ท้าทาย” เจวินและไคล์กล่าว

แล้วพวกคุณได้ก้าวออกมาจากโซนปลอดภัย พร้อมที่จะก้าวไปจับก้อนเมฆกันหรือยัง ไม่ต้องไปไหนไกล ที่เชียงใหม่ หน้าหนาวนี้ก็ไปกันได้ทุกวัน แล้วจะรู้ว่าการได้สัมผัสก้อนเมฆและแตะขอบฟ้า มันเป็นอย่างไร ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ต้องทำ