ขนส่งฯปรับเวลาให้บริการรถโดยสารสาธารณะ-ขนส่งสินค้า ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด-เข้มงวด 7 จังหวัด

  • งดให้บริการเดินรถตั้งแต่เวลา 23.00 – 03.00 น. ถึง 15 พ.ย.นี้
  • ย้ำผู้ประกอบการขนส่ง ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการทางด้านสาธารณะสุข
  • เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 37) ประกอบกับศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้ปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตามระดับพื้นที่สถานการณ์ให้สอดคล้องกับการระบาดและรองรับแผนการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้สำหรับเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ตากนครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา พื้นที่ควบคุมสูงสุด 38 จังหวัด พื้นที่ควบคุม 23 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด 5 จังหวัด

นอกจากนั้น ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดยังคงห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 23.00 – 03.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 64

ดังนั้น กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จึงมีคำสั่งขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการการให้บริการรถโดยสารสาธารณะและการขนส่งสินค้า โดยให้มีผลต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 64 หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า ข้อปฏิบัติสำหรับรถโดยสารสาธารณะ การส่งสินค้า ในจังหวัดสีแดงเข้ม ประกอบด้วย 1.การให้บริการรถโดยสารประจำทางในเส้นทางระหว่างจังหวัด เส้นทางหมวด 2 หมวด 3 และรถโดยสารไม่ประจำทางที่มีท้องที่ทำการขนส่งทั่วราชอาณาจักร ในเขตพื้นควบคุมสูงสุดและเข้มงวด งดให้บริการเดินรถตั้งแต่เวลา 23.00 – 03.00 น. ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 64

2. การให้บริการรถโดยสารประจำทาง เส้นทางหมวด 1 หมวด 4 และรถโดยสารไม่ประจำทาง ในเขตพื้นควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้เป็นไปตามคำสั่งคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด งดให้บริการเดินรถตั้งแต่เวลา 23.00 – 03.00 น. ของวันรุ่งขึ้นจนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564

3. สำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าในเขตพื้นควบคุมสูงสุดและเข้มงวด งดการขนส่งสินค้าในระหว่างเวลา 23.00 – 03.00 น. จนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 64 เว้นแต่บุคคลที่มีความจำเป็นในการขนส่งสินค้าเพื่อประโยชน์ของประชาชนได้แก่ ผู้ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ สินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตทางการเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิงไปรษณีย์ พัสดุภัณฑ์สิ่งพิมพ์ หรือสินค้าเพื่อการส่งออกหรือนำเข้า

ทั้งนี้ ต้องจัดเตรียมใบอนุญาตขับรถ บัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวพนักงานหรือหนังสือรับรองการทำงานและเอกสารรับรองความจำเป็นเกี่ยวกับสินค้า และการเดินทางของผู้ขนส่งสินค้าเพื่อใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายกิจการกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้นในแต่ละพื้นที่ แต่ผู้ประกอบการขนส่งยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการทางด้านสาธารณะสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างเคร่งครัด