การบินไทยเดินหน้ายุบรวม”ไทยสมายล์”

“ปิยสวัสดิ์”ยอมรับการบินไทยมีแผนควบรวมกิจการ “ไทยสมายล์มาอยู่กับการบินไทย”เห็นเป็นรูปธรรมในสิ้นปี 66 นี้ มั่นใจช่วยลดต้นทุนลงอีกว่า 30% พร้อมเดินหน้ากลับมาให้บริการการบินแบบเต็มรูปแบบทั้งในประเทศ ต่างประเทศ ในเส้นทางบินที่เคยบริการ คาดมีรายได้รวมปี 66โต 30% เป็น 1.3-1.4 แสนล้านบาท จากปี 65 ที่มีรายได้รวม 1.05 แสนล้านบาท เหตุท่องเที่ยวฟื้นตัว ขณะที่ EBITDA หลังหักค่าเช่าเครื่องบินจะสูงขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 17,241 ล้านบาท โต 736% ยันกระแสเงินสดแข็งแกร่ง แม้ขาดทุน 252 ล้านบาท คาดกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้นปี 68

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหาร แผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า จากที่การบินไทยได้เดินตามแผนฟื้นฟูกิจการ ขณะนี้การบินไทยได้มีแผนปรับโครงสร้างธุรกิจในการบินไทยใหม่ โดยได้มีการศึกษาที่จะควบรวมกิจการ สายการบินไทยสมายล์ มาอยู่กับ การบินไทย ซึ่งการควบรวมดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ โดยเรื่องนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อแก้ไขแผนธุรกิจภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารที่เป็นทีมเดียว ซึ่งจะใช้เวลาในการศึกษาประมาณ 2 เดือน แล้วเสร็จในช่วงเดือนพ.ค.66 จากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการเจ้าหนี้เพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการการบินพลเรือน(กบร.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบการแก้ไขปรับปรุงแผนธุรกิจ คาดว่าภายในสิ้นปี 66นี้ การให้บริการทั้งในเส้นทางบิน และ ต่างประเทศ จะมีเพียงการบินไทยให้บริการเพียงแบรนด์เดียว

ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร การบินไทย กล่าวว่า สำหรับสาเหตุที่ต้องมีการควบรวมกิจการ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารกิจการ การบริหารตารางเวลาการบิน หรือ สลอตการบิน ให้สามารถทำการบินทั้งในประเทศ และ ต่างประเทศ ในจุดบินที่การบินไทยเคยทำการบินทั้งหมด อย่างไรก็ตามการควบรวมจะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการปรับปรุงธุรกิจของการบินไทย และยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นไม่กระทบต่อผู้โดยสารที่ใช้ของบริการของสายการบินไทยสมายล์เดิม รวมถึงจะไม่กระทบต่อพนักงานไทยสมายล์ที่มีอยู่กว่า 800 คนแน่นอน เนื่องจากพนักงานดังกล่าวก็จะมารวมเป็นหนึ่งเดียวกับการบินไทย

ส่วนข้อดีเมื่อไทยสมายล์เมื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของการบินไทย จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารทรัพย์สินและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่องบินมากขึ้นกว่าเดิมจากปัจจุบันที่ไทยสมายล์บินอยู่ 9 ชั่วโมงต่อวันจะเพิ่มเป็น 12-13 ชั่วโมงต่อวันได้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนลงได้ประมาณ 30% และจะส่งผลให้การดำเนินงานในปี 66 กลับมาเป็นบวกไม่ขาดทุน เนื่องจากที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าผลการดำเนินการงานของไทยสมายล์ในปี 65 ขาดทุนกว่า 4,248 ล้านบาท ขาดทุนสะสมรวมกว่า 20,000 ล้านบาท

นายชาย ยังได้กล่าวต่อถึงทิศทางผลการดำเนินงานในปี 66 บริษัทฯ รวมบริษัทย่อย คาดว่าจะมีรายได้รวมราว 1.3 – 1.4 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 30% จากปี 65 ที่มีรายได้รวม 105,041 ล้านบาท และคาดว่าจะมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 80% เนื่องจากจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว รวมทั้งการปรับโครงสร้างทางธุรกิจและต้นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้ยังได้รับปัจจัยหนุนจากการเปิดประเทศของจีน ประกอบกับการบินไทยยังได้เพิ่มฝูงบินรองรับการกลับมาบินตามปกติในเส้นทางบินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป ออสเตรเลีย กลุ่มประเทศเอเชียเหนือ อย่างประเทศจีน ญี่ปุ่น

ทั้งนี้ในปัจจุบันบริษัทฯและบริษัทย่อยมีอากาศยานที่ใช้ทำการบินรวมทั้งสิ้น 64 ลำ แบ่งเป็นเครื่องบินการบินไทย 44 ลำ เครื่องบินไทยสมายล์ 20ลำ และในปี 66 การบินไทยมีแผนรับมอบอากาศยานรุ่น A 350 เพิ่ม 6 ลำ โดยจะเป็นการเช่าดำเนินจะเริ่มรับมอบลำแรกในเดือนเมษายนนี้ และซ่อมบำรุงโบอิ้ง 777-200ER อีก 1 ลำ เพื่อเพิ่มเข้ามาฝูงบิน ซึ่งจะส่งผลให้การบินไทยมีฝูงบินเพิ่มเป็น 71 ลำในปีนี้ ช่วยเสริมสภาพคล่องในการบินได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามในตารางการบินฤดูร้อน ปี 66 การบินไทยให้บริการเที่ยวบินสู่ 39 เส้นทางบินทั่วโลก พร้อมเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางบินยุโรป ออสเตรเลีย เอเชีย อาทิ โตเกียว (นาริตะ และฮาเนดะ) โอซากา โซล ไทเป ฮ่องกง สิงคโปร์ กัลกัตตา มุมไบ เป็นต้น และกลับมาให้บริการเส้นทางบินเพิ่มเติมในเส้นทางประเทศจีนในช่วงต้นปีได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง เฉิงตู กวางโจว เพื่อรองรับการเดินทางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเร่งขยายขนาดฝูงบินให้เพียงพอต่อแผนเส้นทางบินและจำนวนเที่ยวบิน

นายชาย กล่าวว่า ส่วนผลการดำเนินงานของปี 65 บริษัทการบินไทยและบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิ 252 ล้านบาท ลดลง 101% เมื่อเทียบกับปี 64 ที่มีกำไรสุทธิ 55,113 ล้านบาท เนื่องจากผลการดำเนินงานของบริษัทย่อย โดยเฉพาะบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ซึ่งมีผลการดำเนินงานขาดทุน 4,248 ล้านบาท อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าประมาณการในแผนฟื้นฟูกิจการ พร้อมกันนี้บริษัทฯ และบริษัทย่อยยังมีกำไรจากการดำเนินงานที่เติบโตอยู่ที่ 7,797 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 140% กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 17,241 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 736% และมีกระแสเงินสดที่ 34,540 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 526% ซึ่งจากที่กระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นก็อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินตามแผนฟื้นฟูที่มีแผนการเพิ่มทุนวงเงิน 25,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินกู้ระยาว 12,500 ล้านบาท และเงินหมุนเวียนในกิจการ 12,500 ล้านบาท

นายชาย กล่าวว่า ถ้านับกระแสเงินสดในปัจจุบัน ณ เดือน ก.พ.66 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกระแสเงินสดกว่า 40,000 ล้านบาท และแนวโน้มผลประกอบการคาดว่าจะดีขึ้น ทำให้ความจำเป็นในการใช้เงินกู้ก้อนใหม่ลดลง โดยบริษัทต้องการให้เจ้าหนี้ใหม่มาใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนมากกว่าการกู้เงิน ซึ่งจะช่วยให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกเร็วขึ้น ซึ่งเรื่องการกู้เงินนั้นจะมีความชัดเจนภายในกลางปีนี้ ขณะที่การปรับโครงสร้างทุน ที่มีทั้งการแปลงหนี้เป็นทุน การขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมคาดว่าจะสามารถดำเนินการครึ่งหลังปี 67 นอกจากนั้นในส่วนของผู้ถือหุ้นสัดส่วนของกระทรวงการคลังจะใช้สิทธิเต็ม ที่จะแปลงหนี้เป็นทุนและซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยหลังจากปรับโครงสร้างทุนใหม่ กระทรวงการคลังจะถือหุ้น 44% ก็จะทำให้การบินไทยไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป และเมื่อปรับโครงสร้างทุนแล้วก็จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก จากนั้นออกจากแผนฟื้นฟู และคาดว่า การบินไทยจะกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในต้นปี 68