กรมวิชาการเกษตร เปิดตัวโครงการ GAP Monkey Free Plus ไม่ใช้ ลิง เก็บมะพร้าว

  • สร้างความเชื่อมั่นในเวทีผู้ผลิตมะพร้าวโลก
  • ประชาสัมพันธ์ โครงการ GAP Monkey Free Plus
  • ลดต้นทุนการผลิตและสร้างความปลอดภัย

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  พร้อมด้วย นายสมบัติ ตงเต๊า รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เข้าร่วมประชุม Consultative Virtual Meeting on Thailand Proposal for GAP Monkey Free Plus  ในวันที่ 16 กันยายน 2565   โดยมีเลขาธิการ ICC กรรมการ/คณะทำงานของ ICC และ ผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศสมาชิกเข้าร่วม อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า  กรมวิชาการเกษตรมีแนวคิดในการทำมาตรฐาน GAP Monkey Free Plus เพื่อยืนยันว่าไม่มีการใช้แรงงานสัตว์ (ลิง) ในกระบวนการผลิตและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เป็นการยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่ามะพร้าวที่ส่งออกเป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งนี้สมาชิกผู้ร่วมประชุมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอของไทยต่อการนำมาตรฐาน GAP Monkey Free Plus  มาใช้และกล่าวชื่นชม พร้อมทั้งสนับสนุนการใช้มาตรฐานนี้

มาตรฐาน GAP Monkey Free Plus เป็นความร่วมมือของกรมวิชาการเกษตรกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสมาคม ต่างๆ อาทิ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาน้ำมันมะพร้าวแห่งประเทศไทย บริษัทผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทย ในการกำหนดมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับ เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประชาพิจารณ์ข้อกำหนดมาตรฐาน และประชาสัมพันธ์ให้ผู้สนใจ สมัครเข้ามารับการตรวจประเมิน โดยกรมจะร่วมกับภาคเอกชนและสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ดำเนินการตรวจรับรองแปลง GAP มะพร้าว ผนวกกับการประเมินว่าแปลงปลูกมะพร้าวนั้นปราศจากการใช้ลิงในการเก็บเกี่ยว อีกทั้งเตรียมความพร้อมในการใช้ตราสัญลักษณ์ Monkey Free Plus เพื่อใช้เป็นฉลากสำหรับผลิตภัณฑ์มะพร้าวส่งออก เพื่อสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภคว่า ผลิตภัณฑ์มะพร้าวนี้ผลิตจากแปลงมะพร้าวปลอดภัยและไม่มีการใช้ลิงเก็บเกี่ยวมะพร้าว

ความกังวลในการใช้แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าวจากผู้บริโภคและผู้ซื้อในต่างประเทศนั้นเกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะการเลี้ยงลิงเป็นวิถีชีวิตชาวบ้านของสังคมที่อยู่ด้วยกันมานาน ไม่ได้เข้าไปในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งในการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมมะพร้าวมีการผลิตมะพร้าวกว่า 100 ล้านลูก/เดือน หรือ 0.876 ล้านตันต่อปี จากพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ ดังนั้นการนำลิงมาใช้ในการเก็บมะพร้าวในการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมนี้เป็นไปไม่ได้ แต่เป็นการใช้แรงงานคนและเครื่องจักร ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวเชิญชวน สมาชิก ICC และ Third Party ร่วมลงพื้นที่นำร่องโครงการ GAP Monkey Free Plus ณ ประเทศไทย เพื่อการันตีว่าประเทศไทยมีการผลิตมะพร้าวตามมาตรฐานการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม ปราศจากการใช้แรงงานลิงในการเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ปลายปี 2566 ประเทศไทยพร้อมจัดประชุมคณะกรรมการบริหารระดับรัฐมนตรี (ICC Session and Ministerial Meeting) ในโอกาสการประชุมที่จะมาถึงกรมวิชาการเกษตรจะเชิญชวนรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุมสนับสนุนโครงการ GAP Monkey Free ด้วย

กรมวิชาการเกษตร มีงานวิจัยพันธุ์มะพร้าวต้นเตี้ยให้ผลผลิตสูงกว่ามะพร้าวพื้นเมือง มีการสนับสนุนให้ปลูกมะพร้าวต้นเตี้ยแทนต้นสูงโดยปลูกต้นเตี้ยแซมเพิ่มไปกับมะพร้าวต้นสูงและมีแผนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พัฒนาเครื่องมือเก็บเกี่ยวมะพร้าวโดยสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาการเก็บเกี่ยวของภาคอุตสาหกรรม ให้มีความรวดเร็วและปลอดภัย ลดต้นทุนการผลิตสำหรับการเก็บมะพร้าวในเชิงอุตสาหกรรม