กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดินหน้าผลักดันไม้ยืนต้น ขอสินเชื่อค้ำประกันกับ ธ.ก.ส.ได้จริง

น.ส.ปัทมาวดี บุญโญภาส รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมฯ ได้ลงพื้นที่ จ.อุทัยธานี ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พบตัวแทนเกษตรกรและผู้นำชุมชนในการขับเคลื่อนให้มีการปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเองมากขึ้น โดยให้รายละเอียดถึงประโยชน์ของการปลูกไม้ยืนต้นในระยะยาวที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่ครอบครัวในอนาคต

“การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้เดินทางไปที่ธนาคารต้นไม้บ้านหนองจิก อ.หนองฉาง โดยมีการชี้แจงถึงนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ในการผลักดันให้เกษตรกรปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเอง และนำไม้ยืนต้นนั้นมาเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพื่อนำไปต่อยอดทำการเกษตรหรือใช้สอยในชีวิตประจำวัน เป็นการช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ซึ่งเกษตรกรบ้านหนองจิกให้ความสนใจปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเอง โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มักจะใช้พื้นที่การเกษตรในรูปแบบผสมผสาน คือ การปลูกไม้ยืนต้นสลับกับการปลูกพืชผักสวนครัว โดยมีการแบ่งพื้นที่การเพาะปลูกที่ชัดเจน ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เกษตรกรรมอย่างคุ้มค่าที่สุด” น.ส.ปัทมาวดี กล่าว

นอกจากนี้ กรมฯ ได้ให้คำแนะนำการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ในชุมชนให้สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปให้มีความทันสมัยตรงความต้องการของตลาด พร้อมบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่มีความสวยงาม รวมถึงการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยกรมฯ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยพัฒนาสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงอบรมการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยหลังจากที่ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว กรมฯ พร้อมประสานผู้แทนจำหน่าย ซัพพลายเออร์ และผู้แทนห้างสรรพสินค้าที่เป็นพันธมิตรกับกรมฯ มาคัดสรรสินค้าเพื่อขึ้นจำหน่ายบนศูนย์การค้า โมเดิร์นเทรด สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ และผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อกระตุ้นยอดขาย สร้างภาพลักษณ์ที่ดี และสร้างการจดจำให้แก่ผู้บริโภค เป็นการขยายช่องทางการตลาดให้มีความหลากหลาย เพิ่มรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่นมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ครั้งนี้ กรมฯ ธ.ก.ส.และกรรมการธนาคารต้นไม้ได้ร่วมกันตรวจวัดและประเมินมูลค่าไม้ยืนต้นของเกษตรกรที่แสดงความประสงค์ขอใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ และ ธ.ก.ส.ได้ มอบวงเงินสินเชื่อแก่เกษตรกร 2 ราย วงเงินสินเชื่อรวม 520,437.09 บาท โดยได้นำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกัน 30 ต้น ได้แก่ ยาง 23 ต้น แดง 1 ต้น ประดู่ป่า 1 ต้น มะหาด 1 ต้น รกฟ้า 1 ต้น เสลา 1 ต้น และ พะยอม 2 ต้น โดยเกษตรกรทั้ง 2 ราย รู้สึกดีใจที่ได้รับวงเงินสินเชื่อจากการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันโดยไม่จำเป็นต้องตัดต้นไม้ ทำให้ไม้ยืนต้นนั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามการเติบโตของต้นไม้ เกษตรกรจึงสามารถขยายวงเงินการขอสินเชื่อเพิ่มเติมได้ในอนาคต ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจฯ ที่ต้องการให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายสะดวกมากขึ้น

ทั้งนี้ กรมฯ และ ธ.ก.ส.เตรียมลงพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เช่น อ่างทอง พิษณุโลก เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปเห็นถึงความสำคัญของการปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า โดยข้อมูลวันที่ 30 มิถุนายน 2563 มีผู้ขอนำไม้ยืนต้นมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว 105,381 ต้น มูลค่ารวม 131,649,237.00 บาท  โดยเกษตรกรที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 4944 สายด่วน 1570 www.dbd.go.th และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขาทั่วประเทศ

นายอดิเรก วงษ์คงคำ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาชนบท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้ดำเนินโครงการธนาคารต้นไม้มาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนปลูกต้นไม้ตามแนวทางพระราชดำริ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ปลูกไว้กิน ไว้ใช้ ไว้ขาย และรักษาสิ่งแวดล้อม ในที่ดินตนเองและชุมชน สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรชุมชนร่วมกัน สามารถพึ่งตนเองได้ในระดับครอบครัว ชุมชน และเชื่อมโยงเครือข่ายระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ จนปัจจุบันมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว 6,848 ชุมชน โดยส่งเสริมให้มีการปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2 ล้านต้นต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ส่งเสริมให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเอง แต่สิ่งที่เพิ่มเติม คือ สามารถนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อกับ ธ.ก.ส.ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีความมั่นคง ป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติของสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ สร้างห่วงโซ่คุณค่าของการผลิตทางการเกษตรและต้นไม้ เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากอีกด้วย