กรมธุรกิจพลังงาน เผยยอดใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 6 เดือนแรกปี 65 ใช้เฉลี่ย 152.14 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 12.4% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

  • ชี้ยอดการใช้กลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้น 15.8%
  • น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 62.4%
  • น้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 20.1% LPG เพิ่มขึ้น 8.6%
  • ด้านการใช้ NGV เพิ่มขึ้น 3.2% ขณะที่การใช้กลุ่มเบนซินลดลง 0.1%

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดี กรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยเดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 อยู่ที่ 152.14 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.4% โดยการใช้กลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้น 15.8% น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 62.4% น้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 20.1% LPG เพิ่มขึ้น 8.6% และการใช้ NGV เพิ่มขึ้น 3.2% ขณะที่การใช้กลุ่มเบนซินลดลง 0.1% และน้ำมันก๊าดลดลง 0.2%

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาภาพรวมความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากกิจกรรมการทางเศรษฐกิจที่ทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการผ่อนคลายการเดินทางเข้า-ออกประเทศ

ขณะที่การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.70 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง 0.1%) เนื่องจากราคาที่อยู่ในระดับสูง สำหรับการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ อี20 และเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 6.98 ล้านลิตร/วัน 5.67 ล้านลิตร/วัน และ 0.56 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ อี85 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15.52 ล้านลิตร/วัน และ 0.98 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ

สำหรับด้านการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 75.10 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น 15.8%) การใช้ที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือโดยตรึงราคาให้ไม่เกิน 30-35 บาท/ลิตร จนถึงเดือนกันยายน 2565 สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 65.80 ล้านลิตร/วัน (เพิ่มขึ้น 72.6%) น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 3.03 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี20 มีปริมาณการใช้ 0.20 ล้านลิตร/วัน

ทั้งนี้ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วมีสัดส่วนผสมไบโอดีเซลขั้นต่ำที่ 5-6% ทั้ง 3 เกรด และด้วยราคาที่ใกล้เคียงกันจึงส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ปรับตัวสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วชนิดอื่น

ในส่วนการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 7.44 ล้านลิตร/วันเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น 62.4%) เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการการบินและการเดินทางเข้า-ออกประเทศ โดยผู้เดินทางที่ถือสัญชาติไทยไม่ต้องลงทะเบียนผ่านระบบ Thailand Pass และสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ตามปกติไม่ต้องกักตัวและตรวจหาเชื้อ COVID-19 แต่ต้องแสดงหลักฐานการได้รับวัคซีน หากไม่ได้รับวัคซีนต้องแสดงผลตรวจRT-PCR หรือ ATK ที่ออกภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง

ด้านการใช้ LPG เดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 17.95 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน(เพิ่มขึ้น 8.6%) เนื่องจากการใช้ในทุกภาคเพิ่มขึ้น โดยภาคขนส่งเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.09 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น 18.9%) ภาคปิโตรเคมี เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.05 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น 10.7%) ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.04 ล้านกก./วัน(เพิ่มขึ้น 10.0%) และภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.77 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น 2.1%)

ส่วนการใช้ NGV เดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.38 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น 3.2%) อย่างไรก็ตามเนื่องจากราคาก๊าซ NGV ที่ปรับตัวสูงขึ้น ภาครัฐจึงได้ขอความร่วมมือ ปตท. ขยายระยะเวลาการคงราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม และราคาขายปลีก NGV สำหรับรถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ 13.62 บาท/กิโลกรัม จนถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนทุกภาคส่วน

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,028,314 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น 12.1%) เนื่องจากความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น โดยการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 961,425 บาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้น 9.2%) โดยมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 104,775 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น 98.7%)

สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 66,889 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 5,842 ล้านบาท/เดือน

สำหรับด้านการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลน้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกลดลงมาอยู่ที่ 173,566 บาร์เรล/วัน (ลดลง4.9%) คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 22,286 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น 91.4%)