กรมทรัพย์สินทางปัญญาสยบดรามา “ปังชา-Pang Cha”

.ชี้พ่อค้าแม่ค้าใช้ 2 คำนี้กับน้ำแข็งไสรสชาไทยใส่ขนมปังได้
.เหตุผู้อ้างสิทธิไม่ได้เป็นเจ้าของ 2 คำนี้ใครๆ ก็ใช้ได้
.แต่ห้ามใช้เครื่องหมายฯ Pang Cha และรูปไก่ประดิษฐ์ในวงรี

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงกระแสข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับเมนู “ปังชา” น้ำแข็งไสรสชาไทยใส่ขนมปัง ซึ่งผู้ประกอบการรายหนึ่งอ้างสิทธิได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร และลิขสิทธิ์ว่า ผู้ประกอบการรายนี้ ยื่นจดเครื่องหมายการค้ากับกรม 9 เครื่องหมาย ทุกเครื่องหมายมีการสละสิทธิคำว่า “ปังชา” และ “Pang Cha” (ไม่ขอถือสิทธิใช้คำดังกล่าวเพียงคนเดียว แต่ผู้อื่นสามารถใช้ได้ด้วย)


แต่ยกเว้นคำขอเลขที่ 220133777 ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้า ที่มีองค์ประกอบของคำว่า Pang Cha ร่วมกับรูปไก่ประดิษฐ์วางอยู่ในวงรี โดยผู้ประกอบการรายนี้ ได้นำส่งหลักฐานว่า มีการใช้เครื่องหมายนี้อย่างต่อเนื่องยาวนานจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย กรมจึงรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยไม่มีการสละสิทธิคำว่า Pang Cha ทำให้ผู้ประกอบการมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว ที่จะใช้เครื่องหมายนี้ตามองค์ประกอบของคำและภาพตามที่ได้รับจดทะเบียน แต่ไม่สามารถดึงเฉพาะบางส่วนของเครื่องหมาย คือ คำว่า “Pang Cha” และ “ปังชา” มาอ้างเป็นเจ้าของสิทธิแต่เพียงผู้เดียว


“ขอย้ำว่า บุคคลอื่นยังสามารถนำคำว่า “ปังชา” และ “Pang Cha” ไปใช้ได้ แต่ต้องไม่ใช้ทั้งภาพและคำ ในรูปแบบเดียวกันกับที่ผู้ประกอบการรายนี้ได้รับจดทะเบียนเอาไว้แล้ว เพราะจะเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบการรายนี้ได้”


นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายนี้ ยังได้จดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งก็คือ ภาชนะสำหรับใส่ปังชาไว้ด้วย แต่ไม่ได้จดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรในสูตรปังชา เพราะเป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งคิดค้นขึ้นมาใหม่ ดังนั้น ผู้ประกอบการรายอื่น ที่มีเมนูน้ำแข็งไสรสชาไทย จึงสามารถขายต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IPAC) ชั้น 4 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือโทร.สายด่วน 1368 และ Facebook กรมทรัพย์สินทางปัญญา