กรมการค้าภายในเบรกพ่อค้าขึ้นราคาปุ๋ยเคมี

  • หลังราคาพุ่งจากน้ำมันดิบแพง-จีนชะลอส่งออก
  • ลั่นถ้าพ่อค้าไม่ยอมตรึงราคาจะใช้มาตรการเข้มข้น
  • สั่งตรวจสอบโครงสร้างต้นทุน-ให้แจ้งราคาขาย

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้ตรวจสอบปัจจัยการผลิตก่อนที่เกษตรกรจะเริ่มฤดูการผลิต และพบว่า ราคาปุ๋ยเคมีในตลาดปรับสูงขึ้นจากในช่วงเดือนม.ค.64 โดยเฉพาะปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ที่มีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างมาก เพราะวัตถุดิบแม่ปุ๋ยยูเรีย แม่ปุ๋ยฟอสเฟต และแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม ที่นำเข้าจากต่างประเทศปรับขึ้นราคา โดยราคาเดือนมี.ค.694 อยู่ที่ตันละ 384, 557 และ 288 เหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ จากในปี 63 อยู่ที่ตันละ  262.17, 321.00 และ 255.67 เหรียญสหรัฐฯตามลำดับ 

ทั้งนี้เพราะราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นมาก ล่าสุดมาอยู่ที่ 64.55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากปี 63 อยู่ที่ 42.21 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ประกอบกับ อินเดียได้เปิดประมูลซื้อแม่ปุ๋ยล็อตใหญ่ และจีนซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าหลักของไทย ได้ชะลอการส่งออกแม่ปุ๋ย เพื่อเตรียมสำหรับการเพาะปลูกในรอบใหม่ รวมถึงค่าระวางเรือขนส่งปรับราคาสูงขึ้น จึงส่งผลให้ราคาวัตถุดิบแม่ปุ๋ยยูเรีย แม่ปุ๋ยฟอสเฟต และแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม ปรับราคาสูงขึ้นมาก  

อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดตรวจสอบสถานการณ์ราคาปุ๋ยในแต่ละจังหวัดอย่างเข้มงวด ไม่ให้ผู้ค้าฉวยโอกาสเอาเปรียบเกษตรกร ขณะเดียวกัน สั่งการให้กรม หามาตรการแก้ไขโดยด่วนที่สุด ซึ่งจากการประชุมร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ ธ.ก.ส. ได้กำหนดแนวทางแก้ปัญหาแล้ว ได้แก่ ขอความร่วมมือให้ผู้จำหน่ายปุ๋ย ตรึงราคาขายต่อไปอีกระยะหนึ่ง พร้อมกับให้ผู้ค้าปิดป้ายแสดงราคาจำหน่าย รวมถึงให้พาณิชย์จังหวัด และกรมตรวจสอบสถานการณ์ราคาอย่างใกล้ชิด  

นอกจากนี้ จะสนับสนุนให้เกษตรกรซื้อปุ๋ยเงินสดแทนการซื้อเชื่อที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งมั่นใจว่าจะทำให้ราคาปุ๋ยที่ซื้อสดถูกกว่าราคาที่จะซื้อเงินเชื่อ, จัดหาปุ๋ยราคาถูกให้เกษตรกรรายย่อย โดยให้กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ หรือผู้ประกอบการที่มีศักยภาพผลิตปุ๋ยผสมในรูปปุ๋ยอินทรีย์ผสมกับปุ๋ยเคมี โดยรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วน เช่น ค่าบริหารจัดการ ค่าขนส่ง ค่าบรรจุ เป็นต้น ซึ่งจะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนสรุปนำเสนอกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป  

“ถ้ามาตรการดังกล่าว ไม่สามารถทำให้ราคาปุ๋ยชะลอการปรับขึ้นราคาได้ กรมจะเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการทางกฎหมาย โดยจะมีการตรวจสอบโครงสร้างต้นทุน และให้ผู้ประกอบการแจ้งราคาจำหน่ายมายังกรม เพื่อนำไปเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของกรมที่ www.dit.go.th และเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”  

อย่างไรก็ตาม คาดว่า การปรับตัวของราคาปุ๋ยจะลดความรุนแรงลง เพราะปัจจุบัน อินเดียได้รับมอบปุ๋ยจากการประมูลแล้ว และจีนได่สต็อกไว้เพียงพอแล้ว จึงขอให้เกษตรกรซื้อปุ๋ยเท่าที่จำเป็นก่อน ซึ่งกรมจะได้ติดตามราคาจำหน่ายอย่างใกล้ชิด ให้สอดคล้องกับต้นทุนการนำเข้าแม่ปุ๋ย แต่หากพบว่า มีการกักตุนหรือจำหน่ายสินค้าในราคาแพงเกินสมควร จะมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่ไม่ปิดป้ายแสดงราคา จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท โดยสามารถแจ้งหรือร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมโทร. 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด