กรมการค้าภายในยันข้าวถุงไทยไม่มีปัญหา

.แม้อินเดียห้ามส่งออกข้าวขาวไม่กระทบราคาข้าวไทยแน่
.ปริมาณยังมีเพียงพอ-ราคาเป็นปกติแถมห้างจัดโปรต่อเนื่อง
.เตรียมออกมาตรการชดเชยดอกเบี้ย 3% ช่วยผู้เลี้ยงหมู

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีที่ประเทศอินเดียห้ามส่งออกข้าว จนเกิดความกังวลอาจทำให้ราคาข้าวขาว และข้าวสารบรรจุถุงในประเทศปรับตัวสูงขึ้นว่า กรมได้ติดตามสถานการณ์เรื่องนี้ใกล้ชิด โดยราคาข้าวถุงในประเทศยังอยู่ในสภาวะปกติ ไม่มีการปรับขึ้นราคา ขณะเดียวกัน ยังมีปริมาณเพียงพอรองรับความต้องการผู้บริโภค ดังนั้น ขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะห้างสรรพสินค้า ยังจัดโปรโมชั่นจำหน่ายข้าวถุงอย่างต่อเนื่องด้วย


“เรื่องนี้กรมติดตามอย่างใกล้ชิด และหารือกับผู้ประกอบการผลิตข้าวถุงเป็นระยะ ซึ่งที่ผ่านมา สภาพการแข่งขันยังเป็นปกติ และผลผลิตข้าวไทยยังมีปริมาณที่เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ และส่งออก”


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ราคาข้าวถุงในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับ 1-2 เดือนที่แล้ว ยังเคลื่อนไหวไปตามปกติ ไม่มีการขยับขึ้นราคา โดยข้าวหอมมะลิ ถุง 5 กิโลกรัม (กก.) จำหน่ายในห้างถุงละ 165-269 บาท จำหน่ายตามร้านค้าทั่วไปถุงละ 189-290 บาท ขณะที่ข้าวขาว 5% ถุง 5 กก. ห้างสรรพสินค้าถุงละ 97-137 บาท และร้านค้าทั่วไปถุงละ 105-165 บาท เนื่องจากปริมาณสต็อก และผลผลิตข้าวยังมีเพียงพอ ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ที่สำคัญ ที่ผ่านมาไทยมีผลผลิตส่วนเกินปีละ 8-9 ล้านตัน จึงเพียงพอต่อการส่งออก และไม่กระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ


นายวัฒนศักย์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีผู้เลี้ยงสุกรเดือนร้อนจากราคาหมูหน้าฟาร์มตกต่ำ สาเหตุมาจากต้นทุนการเลี้ยงและต้นทุนวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้นต่อ เนื่องจากเหตุการณ์ภายนอกประเทศ ขณะที่ราคาเนื้อหมูหน้าเขียงจำหน่ายอยู่ขณะนี้ กก.ละ 130.69 บาท ถือว่าผู้เลี้ยงหมูต้องแบกรับภาระต้นทุนดังกล่าวสูงพอสมควร ดังนั้น ในเร็วๆ นี้ กรม จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ เพื่อช่วยกันหาวิธีลดต้นทุนอาหารสัตว์ให้แก่ผู้เลี้ยง


“ที่ผ่านมา กรมได้ช่วยเหลือผ่านกลไกการร่วมกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ไปจัดซื้อวัตถุดิบจากทางโรงงานผลิตอาหารสัตว์โดยตรง และขอให้โรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ คงราคาจำหน่ายไว้เท่าเดิม และหากเห็นว่าต้นทุนวัตถุดิบลดลงก็ควรจะปรับราคาอาหารสัตว์ลดลงตามกลไกตลาด รวมถึงจะนำเสนอแนวทางช่วยเหลือชดเชยดอกเบี้ย 3% ให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงหมูต่อคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ หรือพิกบอร์ด อีกด้วย”


นอกจากนี้ ที่ผ่านมา กรมยังได้จัดทำ โครงการเชื่อมโยงอาหารสัตว์ให้แก่เกษตรผู้เลี้ยงสัตว์ ปี 66 โดยเปิดให้เกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงหมู ไก่ไข่ ไก่เนื้อแจ้งความจำนงขึ้นทะเบียน เพื่อรับเงินชดเชยจากภาครัฐเป็นเวลา 1 เดือน วงเงินไม่เกิน 10,000 บาท หรือจำนวนไม่เกิน 10 ตัน