กยศ.ใจป้ำหั่นเบี้ยปรับ 75-80% จูงใจลูกหนี้กยศ.ปิดบัญชี

  • พักชำระหนี้ 1 ปี ลูกหนี้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
  • ปรับเกณฑ์เบี้ยปรับใหม่ เหลือ 7.5% ต่อปี เริ่ม 1 ต.ค.นี้ 
  • เพิ่มค่าครองชีพทุกกลุ่มอีก 600 บาท/เดือน เริ่มต้นปีการศึกษาหน้า

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า กยศ.ได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาลูกหนี้ กยศ. และช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้ 5 แนวทาง ประกอบด้วย

1.ลดเบี้ยปรับให้ 80% สำหรับผู้กู้ยืมกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชีในครั้งเดียว ตั้งแต่วันที่ 1ก.ย.2562-29ก.พ.2563

2.ลดเบี้ยปรับให้ 75% โดยเฉพาะผู้กู้ยืมกลุ่มก่อนฟ้องคดีที่มาชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ(ไม่ค้างชำระ) ตั้งแต่วันที่ 1ก.ย.2562-29ก.พ.2563 และจะต้องชำระหนี้ให้ตรงเวลา แต่ถ้าหากผิดนัดชำระหนี้ในปีที่ 2 กยศ.จะยึดสิทธิ์คืนไม่ผ่อนปรนให้ชำระหนี้ในอัตรา 75% โดยทั้ง 2 กลุ่มนี้มีจำนวนผู้ที่ต้องมาปิดบัญชี 110,000 ล้านคน

3.พักชำระหนี้ 1 ปี สำหรับผู้กู้ยืมที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจน จำนวน 300,000 ราย โดยเงื่อนไขคือต้องเป็นผู้กู้ยืมก่อนมีการฟ้องคดี กรณีผู้ที่มีงวดชำระเป็นรายปี จะได้รับการพักชำระหนี้งวดปี 2563 กรณีผู้ทีมีงวดชำระเป็นรายเดือน พักชำหระหนี้ 12 เดือน  นับตั้งแต่เดือนถัดไปที่กองทุนอนุมัติ โดยสมารถลงทะเบียนขอรับสิทธิตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนดได้ทาง www.studentloan.or.th/promotion ตั้งแต่วันที่ 1ก.ย.2562-29ก.พ.2563 ทั้งนี้มีผู้กู้ยืมที่เข้าข่ายที่จะได้รับสิทธิพักชำระหนี้ 335,000 ราย

4.ปรับอัตราเบี้ยปรับจากเดิม 12-18%  เหลือ 7.5% ต่อปี เฉพาะกลุ่มก่อนดำเนินคดีมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.2562 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการลดภาระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินที่ค้างชำระให้สามารถผ่อนชำระเงินคืนได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนงวดที่ผิดนัดชำระจนถึงวันที่ 30 ก.ย.62 ยังคิดอัตราเบี้ยปรับเท่าเดิม

5.เพิ่มค่าครองชีพ 600 บาทต่อเดือน แบ่งเป็น ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากเดิม 1,200 บาท เพิ่มเป็น 1,800 บาท และระดับระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) และปริญญาตรี จากเดิม 2,400 บาท เพิ่มเป็น 3,800 บาท โดยในกลุ่มนี้มีที่จะได้รับเงินเพิ่มทั้งหมด 600,000 คน อย่างไรก็ตามจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป โดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 4,000 ล้านบาทต่อปี

“ส่วนถ้าหากผู้กู้รายใดไม่ประสงค์จะรับการเพิ่มค่าครองชีพเพื่อไม่ให้ยอดหนี้กยศ.มากขึ้นไปกว่านี้ ก็สามารถทำได้โดยแจ้งทางกยศ.เข้ามาว่าไม่ประสงค์จะรับเงินค่าครองชีพเพิ่มเติม”

อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีจำนวนผู้กู้ยกศ.ที่รับเงินเดือนผ่านกรมบัญชีกลาง หน่วยงานราชการและบริษัทเอกชน จำนวน 1.2 ล้านคน โดยในปีนี้สามารถหักเงินผ่านบัญชีเงินเดือนผู้กู้กยศ.ได้แล้ว 7,000 แห่ง จำนวน 400,000 ราย ทั้งนี้กยศ.ตั้งเป้าว่าในปี 2563 จะหักเงินผ่านบัญชีเพิ่มเป็น 700,000 ราย ก่อนปี 2564 จะหักหนี้ผ่านบัญชีให้ครบ 1 ล้านคน จำนวน 100,000 แห่ง

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน กองทุนมีผู้กู้ยืมที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา 5.61 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและปลอดหนี้ 803,222 คน ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.66 ล้านคน ผู้กู้ที่ชำระเสร็จสิ้นแล้ว 1.09 ล้านคน และอื่นๆ 57,203 คน เป็นเงินงบประมาณให้กู้ยืมกว่า 605,354 ล้านบาท สำหรับผลการรับชำระหนี้ในปีงบประมาณ 2562 คาดว่าจะได้รับชำระหนี้ 30,000 ล้านบาท

“ขอยืนยันว่า ปีนี้ไม่มีการจำกัดโควตาการให้กู้ยืมเงินสำหรับผู้กู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และทั้งหมดนี้ กยศ.ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน ซแต่เป็นผลมาจากการชำระหนี้ที่ดีขึ้น และมาตรการหักเงินเดือน”