กยศ.มั่นใจหักหนี้กยศ.ผ่านบัญชีเงินเดือนครบทุกรายปี 64

  • พักหนี้บัตรคนจน 1 ปี ตรวจสอบข้อมูลเสร็จเดือนก.พ.นี้
  • ไม่ห่วงงบปี63ล่าช้าเพราะใช้เงินจากกองทุนกยศ.
  • ผนึก กสศ.สร้างโอกาสทางการศึกษา

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์  ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) เปิดเผยว่า ในปี 2564 เตรียมจะหักเงินลูกหนี้ กยศ.ที่เป็นลูกจ้างบริษัท และเป็นข้าราชการ จำนวน  1.8 ล้านราย  ซึ่งอยู่ในบริษัทธุรกิจเอกชน และหน่วยราชการ รวมกว่า 100,000แห่ง ผ่านทางบัญชีเงินเดือนทุกราย ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ ที่กำหนดให้ธุรกิจที่มีพนักงานหรือลูกจ้าง เป็นลูกหนี้ของ กยศ. จะต้องทำระบบหักบัญชีเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ กยศ. โดยนำส่งพร้อมกับการนำส่งภาษีให้กับกรมสรรพากร

ทั้งนี้ในปี 2562 กยศ.สามารถหักเงินคืนจากบัญชีเงินเดือนได้ทั้งสิ้น 400,000 ราย ส่วนในปี 2563 ตั้งเป้าจะหักเงินคืนจากบัญชีเงินเดือนเพิ่มอีก 400,000 ราย ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถหักได้ตามเป้าหมายแน่นอน เพราะเมื่อมีหนังสือแจ้งให้ทำการหักบัญชีแล้ว หากนายจ้างไม่ยินยอมให้หักบัญชี  นายจ้างจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย คือ จะต้องจ่ายเงินนำส่งแทนลูกจ้างหรือข้าราชการ บวกด้วยดอกเบี้ยในอัตรา 2 % ต่อปี 

“อย่างไรก็ตามปัจจุบัน กยศ.ให้กู้แก่เด็กนักเรียนปีละ 600,000 ราย คิดเป็นวงเงินให้กู้ประมาณ 26,000 ล้านบาท  โดยปี 2562 ที่ผ่านมา ได้รับชำระหนี้คืนมา 31,000 ล้านบาท เกินกว่าเงินให้กู้แต่ละปีราว 5,000 ล้านบาท ส่วนประเด็นความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 นั้น คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก เพราะกยศ.ใช้งบกองทุนกยศ. โดยไม่พึ่งเงินงบประมาณ และมีกำไรจากการปล่อยกู้”

ขณะที่ในส่วนการพักชำระหนี้ 1 ปี สำหรับผู้กู้ยืมที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน เฉพาะกลุ่มผู้กู้ยืมก่อนฟ้องคดี ซึ่งจะพักชำระหนี้ในงวดปี 2563และกลับมาชำระหนี้ในวันที่ 5 ก.ค.2564 นั้น ปัจจุบันมีผู้ที่ถือบัตรคนจนมายื่นขอพักชำระหนี้จำนวนกว่า 328,000 ราย ซึ่งขณะนี้กยศ.กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบอยู่ข้อมูลและคุณสมบัติอยู่ คาดว่าหลังเดือนก.พ.2563 จะสรุปได้ว่ามีผู้ถือบัตรคนจนที่ได้รับสิทธิ์พักชำระหนี้จำนวนเท่าใด

นอกจากนี้กยศ.ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและการดำเนินการร่วมกันกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) โดยเตรียมแลกเปลี่ยนข้อมูลนักเรียนและนักศึกษา เพื่อทำให้การดำเนินงานเป็นในทิศทางเดียวกัน และทำให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับโอกาสทางการศึกษามากที่สุด

นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ.จะเน้นช่วยเหลือเด็กยากจน ระดับประถมศึกษาถึงการศึกษาภาคบังคับ ช่วงอายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมีเด็กอยู่ในการรับผิดชอบราว 900,000 ราย ใช้งบประมาณดูแลราว 5,000 ล้านบาท ขณะที่ กยศ. เน้นช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ อายุ 15-25 ปี ที่ต้องการศึกษาต่อในระดับการศึกษาที่สูงกว่ามัธยมศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรี จำนวนปีละประมาณ 476,830 ราย