กพช.ไฟเขียวเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าภาคประชาชน เป็น 2.20 บาท

  • นำร่อง 50 เมกะวัตต์ ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี
  • พร้อมขยายโครงการหนุนกลุ่มโรงเรียนโรงพยาบาล
  • สามารถสร้างการลงทุนรวม 3,000 ล้านบาท

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่า กพช.ได้พิจารณาเห็นชอบตามมติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชนโดยแบ่งเป็นการดำเนินการ มีเป้าหมายนำร่อง 100 เมกะวัตต์ สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ (ซีโอดี)ได้ในปีหน้า 2 ส่วน ดังนี้ 1. ปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากกลุ่มบ้านผู้อยู่อาศัย (โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชน) ที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเป็น 2.20 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง จากเดิมรับซื้อในราคาไม่เกิน 1.68 บาทต่อกิโลวัต์ชั่วโมง เป้าหมายการรับซื้อ 50 เมกะวัตต์ ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. เป็นต้นไป โดยให้ครอบคลุมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการใหม่และที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ซึ่งการปรับเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าให้ผลตอบแทนดีขึ้น สามารถคืนทุนภายใน 8 – 9 ปี เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย

2. ขยายผลการดำเนินโครงการฯ ไปยังกลุ่มโรงเรียนสถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร (โครงการนำร่อง) จำนวน 50 เมกะวัตต์ โดยกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ในอัตรา 1 บาทต่อกิโลวัต์ชั่วโมง แบ่งเป็นกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา 20 เมกะวัตต์ กลุ่มโรงพยาบาล 20 เมกะวัตต์ และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 10 เมกะวัตต์ ซึ่งหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องมีกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 เมกะวัตต์ แต่น้อยกว่า 200 เมกะวัตต์ ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี เพื่อให้เหมาะสมกับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าและศักยภาพพื้นที่ สำหรับติดตั้งระบบโดยเฉลี่ย และส่งเสริมระบบผลิตไฟฟ้าแบบกระจาย

ทั้งนี้ ในกรณีการลงทุนโดยภาครัฐในส่วนของกลุ่มโรงเรียนและโรงพยาบาล กพช.มอบให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ไปหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อ พิจารณาปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชนและโครงการนำร่องในกลุ่มโรงเรียนและโรงพยาบาล จะสามารถสร้างมูลค่า การลงทุนได้ 3,000 ล้านบาท

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวหากเป็นรายใหม่ ในการพิจารณาเข้าร่วมโครงการ คณะทำงานจะดูถึงศักยภาพในการขายไฟฟ้า เข้าระบบว่ามีความเสถียรภาพ ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าปกติ โดยระหว่างนี้กระทรวงพลังงาน อยู่ในขั้นตอนกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อ นไขการเข้าร่วมโครงการแล้วเสร็จในไตรมาส1ปีหน้า หากสามารถดำเนินโครงการเป็นไปตามเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์ได้ในปีหน้า ได้สำเร็จ ก็อาจพิจารณาเปิดโครงการอีก 50 เมกะวัตต์ในปี 2565 เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นในประเทศ