กนอ.เป่าปริ๊ดๆได้ฤกษ์ตอกเสาเข็มท่าเรือมาบตาพุด3

  • ต้ังแต่1ก.ค.นี้เหตุจัดทำอีเอชไอเอผ่านพิจารณาของสผ.
  • ลุยพบผู้ว่าฯระยองเจรจามาตรการช่วยเรือประมง
  • รองรับขนถ่ายวัตถุดิบปิโตรเคมีบนพื้นที่1,000 ไร่

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยความคืบหน้าการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 หลังได้รับใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำ จากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาระยอง ว่ากนอ.จะทำหนังสือแจ้งให้ บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัดเจ้าของสัมปทานว่า สามารถ เริ่มงานดำเนินโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระยะที่ 1 (NTP1) ได้ต้ังแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ หลังได้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหา ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ) ที่ได้รับความเห็นชอบจากทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว

“ในสัปดาห์นี้ ผม จะเข้าพบกับผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เพื่อประชุมหารือทำความเข้าใจเรื่องมาตรการช่วยเหลือ ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประกอบการอาชีพประมง ก่อนเริ่มต้นงานก่อสร้าง ที่สามารถดำเนินการได้ ผ่านมูลนิธิกองทุนหลักประกัน ความเสียหายฉุกเฉินและพัฒนาคุณภาพ ของประชาชนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่สามารถขับเคลื่อนได้ตามกลไกและรวดเร็ว โดยจะแต่งตั้งคณะทำงานกำหนดกรอบ แนวทาง วางแผน วิเคราะห์ ประเมินผู้ได้รับผลกระทบและชี้แจงรายละเอียดก่อนดำเนินการก่อสร้าง”

นอกจากนี้ กนอ.อยู่ระหว่างประสานกับทางจังหวัดระยอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อหาแนวทางการจัดประชุมประชาสัมพันธ์โครงการก่อนเริ่มดำเนินการก่อสร้าง ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 คาดว่าสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด ได้เข้าร่วมลงทุนในการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานและท่าเทียบเรือ เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง มีเนื้อที่ 1,000 ไร่ โดย ปัจจุบันท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดถือเป็นท่าเรืออุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หลังพัฒนาเสร็จจะสามารถขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลว ในปริมาณ 16 ล้านตันต่อปี ล่าสุดมีผู้ประกอบการ 12 ราย เป็นผู้ให้บริการท่าเทียบเรือเฉพาะกิจ 9 ราย และผู้ให้บริการท่าเทียบเรือสาธารณะ 3 ราย มีการใช้งานใกล้เต็มศักยภาพแล้ว จึงมีความจำเป็นต้องขยายท่าเรือรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

#TheJournalistclub #วัคซีนโควิด #ท่าเรือ