วิกฤติพลังงานโลกทำให้ทุกสถาบันต้องปรับตัว

  • โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันอุดมศึกษา
  • เป็นแหล่งสร้างองค์ความรู้เพื่อเป็นต้นแบบให้กับสังคม
  • .มหิดลสร้างแบบอย่างสู้วิกฤติพลังงาน

รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงกรอบการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบันว่า ได้มีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์โลก ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ ส่วนที่สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของมหาวิทยาลัยมหิดลในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 มากที่สุดได้แก่ เป้าหมายที่ 7 : Affordable and Clean Energy ที่ว่าด้วยเรื่องของพลังงานสะอาด ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลได้เล็งไปที่การใช้พลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์ โดยได้ร่วมกับภาคเอกชนติดตั้งหลังคาเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) และทุ่นลอยน้ำเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Floating) พื้นที่ติดตั้งภายในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา รวมทั้งสิ้น 56,000 ตารางเมตร

โดยคาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จภายในไม่เกินสิ้นปี 2565 นี้ ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 13.59 เมกะวัตต์ คาดว่าจะลดค่าไฟฟ้าจากระบบปกติได้ถึงเกือบ 4 ล้านบาทต่อเดือน คิดเป็นปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับร้อยละ 20

นอกจากนี้ เพื่อรองรับการใช้พลังงานสะอาดที่จะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายต่อไปในอนาคต มหาวิทยาลัยมหิดลได้ติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้า เพื่อใช้กับรถรางสาธารณะภายในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา และได้เปลี่ยนรถสายตรวจของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยภายในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา จากรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน มาเป็นรถจักรยานไฟฟ้าที่ใช้พลังงานสะอาด

อย่างไรก็ดี รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต มองว่าเรื่องที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรณรงค์ใช้พลังงานสะอาด คือ การรณรงค์เรื่องขับขี่ปลอดภัย โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นไป มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการรณรงค์ให้ผู้ขับขี่ และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา สวมหมวกนิรภัยอย่างจริงจัง เพื่อลดอุบัติภัยทางท้องถนนภายในวิทยาเขต และจะเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนมากยิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่มทางม้าลายสีขาวภายในวิทยาเขตให้อยู่ในกรอบพื้นสีแดง เพื่อเพิ่มความระมัดระวังให้กับผู้ขับขี่

ด้วยความมุ่งมั่นด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานสะอาดของมหาวิทยาลัยมหิดลตลอดเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถคว้ารางวัลสำนักงานสีเขียว(Green Office) จาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประจำทุกปี โดยล่าสุดปี 2564 มีส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้รับรางวัลระดับดีเยี่ยม จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ สำนักงานอธิการบดี และ คณะทันตแพทยศาสตร์

รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ทันตแพทย์ศิริชัย เกียรติถาวรเจริญ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในห้องปฏิบัติการเป็นเรื่องที่ไม่อาจละเลยได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคณะที่ใช้ห้องปฏิบัติการเป็นส่วนสำคัญในการจัดการเรียนการสอนอย่างเช่นคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้เข้ารับการประเมินตามโครงการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย “ESPReL” (Enhancement of Safety Practice of Research Laboratory in Thailand) โดยผ่านเกณฑ์ครบทั้งหมด 100%

นอกจากนี้ คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลยังได้นำแนวทางการดำเนินการสำนักงานสีเขียวมาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การดำเนินการเพื่อความยั่งยืนของคณะฯรวมทั้งได้ประกาศให้เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินPerformance Agreement ของหน่วยงานภายในโรงพยาบาล

และจากการวางนโยบายวางแผนการดำเนินงาน การใช้หลักการสื่อสารและสร้างจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรและพลังงาน ตลอดจนการจัดการของเสีย สภาพแวดล้อม และความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คณะฯ ได้รับการรับรองจาก Bangkok Green and Clean Hospital Plus ระดับเพชรปี2564ต่อไปอีกด้วย

“การให้ความรู้ สร้างการยอมรับ สร้างความตระหนักถึงประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนสร้างให้เกิดเป็นวัฒนธรรมจากการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือ หัวใจสำคัญของความยั่งยืน ซึ่งความร่วมมือภายในองค์กร จากการให้บุคลากรทุกระดับได้มีส่วนร่วม ทำให้การดำเนินการเพื่อให้เกิดความยั่งยืนเป็นไปอย่างมีความสุข และยิ่งจะทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพ และได้รับประโยชน์มากขึ้นตามไปด้วย” รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ทันตแพทย์ศิริชัยเกียรติถาวรเจริญ กล่าวทิ้งท้าย