WTO ชี้สมาชิกใช้มาตรการจำกัดการค้าวัคซีนต้านโควิด-19

  • ผู้ผลิตวัคซีน 23 ราย รวมไทย เก็บภาษีนำเข้าวัตถุดิบสูงลิ่ว
  • ไทยเก็บเฉลี่ย 6.4% สูงที่ 7 ในบรรดาผู้ผลิตทั่วโลก 27 ราย
  • จี้สมาชิกทบทวนใช้มาตรการหวังให้ส่งออก-นำเข้าไม่สะดุด

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟิลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (ดับบลิวทีโอ และไวโป) เปิดเผยว่า แม้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกผ่อนคลายการจำกัดทางการค้า และอำนวยความสะดวกทางการค้ามากขึ้น จนทำให้ดับบลิวทีโอ คาดว่า ปีนี้ การค้าโลกจะขยายตัว 10.8% และ4.7% ในปี 65 แต่สำหรับวัคซีนป้องกันโควิด วัตถุดิบ รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง หลายประเทศยังมีมาตรการจำกัดทางการค้าอยู่มาก โดยผลการศึกษาผลกระทบของโควิด-19 ต่อการค้าโลกของสำนักงานเลขาธิการดับบลิวทีโอ พบว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการขยายตัวของการค้าโลก คือ ปัญหาคอขวดที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโควิด ที่หลายประเทศ รวมถึงไทย นำมาใช้ จนส่งผลให้การผลิตและกระจายวัคซีนหยุดชะงัก ส่งผลต่อเนื่องไปยังการค้าและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ ดังนั้น ทั่วโลกต้องทบทวนการใช้มาตรการต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค เพื่อให้การค้าสินค้าและปัจจัยการผลิตที่วัคซีนโควิดลื่นไหล และร่วมกันส่งเสริมการฟื้นตัวของการค้าโลกในระยะต่อไป

สำหรับปัญหาคอขวดดังกล่าว เกิดจากหลายประเทศยังมีมาตรการจำกัดการส่งออก รวมทั้งมีกระบวนการทางศุลกากรที่เป็นอุปสรรค เช่น บางประเทศไม่ยกเว้นการตรวจผ่านพิธีการทางศุลกากรวัตถุดิบผลิตวัคซีน หรือตัวอย่างวัคซีนที่ถูกส่งไปทดสอบในต่างประเทศ ต้องผ่านพิธีการทางศุลกากรเหมือนเป็นสินค้าทั่วไป, การขึ้นทะเบียนยา การขออนุญาตจำหน่าย การตรวจปล่อย รวมทั้งขั้นตอนการขยายการผลิตใช้เวลายาวนาน เปลี่ยนแปลงบ่อย และไม่สอดคล้องกันระหว่างประเทศ, ปัญหาโลจิสติกส์ในการขนย้ายวัคซีนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ขาดเข็มฉีดยา และห้องเย็น

นอกจากนี้ ผู้ผลิตวัคซีน รวมถึงไทย รวม 23 ประเทศจากผู้ผลิตทั้งหมด 27 ประเทศทั่วโลก ยังเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตวัตซีนโควิดในระดับสูงมาก โดยเฉพาะ อิหร่าน อัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยที่  11.9%, คิวบา 10.3%, อาร์เจนตินา 9.6%, คาซัคสถาน 8.9%, อินเดีย 8.5%  ส่วนไทย 6.4% สูงเป็นอันดับที่ 7 ในบรรดา 27 ประเทศ ถือว่าอยู่ในระดัยสูงอย่างมีนัยสำคัญและไม่ควรเพิกเฉย โดยปัจจัยการผลิตวัคซีนโควิดที่ไทยมีอัตราภาษีนำเข้าสูง เช่น ถุงเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ 8.4%, อุปกรณ์การผลิตวัคซีน 5.9%, สารวัตถุดิบสำหรับวัคซีน 6.6%, ซูโครสบริสุทธิ์ในรูปของแข็ง ซึ่งเป็นวัตถุดิบผลิตวัคซีน 94% เป็นรองเพียงอินเดียที่เก็บ 100%

“จากผลการศึกษาของดับบิลวทีโอ พบว่า ตั้งแต่เริ่มการระบาด สมาชิกใช้มาตรการทางการค้าที่เกี่ยวกับโควิดแล้ว384 มาตรการ แบ่งเป็น มาตรการจำกัดการค้า 136 มาตรการ ครอบคลุมมูลค่าการค้า 205,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯในจำนวนนี้ 114 มาตรการเป็นการจำกัดการส่งออก ที่เป็นปัญหาสำคัญในการแก้ไขปัญหาการกระจายวัคซีนและสินค้าสำคัญทางการแพทย์อื่นๆ ส่วนอีก 248 มาตรการ เป็นมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า ครอบคลุมมูลค่า 291,300 ล้านเหรียญฯ ส่วนมาตรการทางการค้าที่ไม่เกี่ยวกับโควิด สมาชิกใช้มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า 61 มาตรการ ครอบคลุมมูลค่า 445,000 ล้านเหรีญฯ และใช้มาตรการจำกัดการค้า 70 มาตรการครอบคลุมมูลค่า 127,000 ล้านเหรียญฯ” นางพิมพ์ชนก กล่าว