WHO อนุมัติใช้ ‘ซิโนแวค’ กรณีฉุกเฉิน นับเป็นวัคซีนตัวที่ 8 กลุ่มผู้เชี่ยวชาญระบุมีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้ 51% และยังไม่ได้ประเมินการใช้ในกลุ่มผู้สูงอายุ

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศอนุมัติใช้วัคซีนโควิด-19 “ซิโนแวค” โดยบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค จากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน สำหรับการใช้ในกรณีฉุกเฉิน ในกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป 

นับเป็นเป็นวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ของจีน ตัวที่สองที่ได้รับการรับรองจาก WHO ต่อจากวัคซีนของซิโนฟาร์ม

แถลงการณ์ของ WHO ระบุด้วยว่า คณะผู้เชี่ยวชาญอิสระได้แนะนำใช้วัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค กับผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี โดยให้ฉีดโดสที่สองในอีก 2-4 สัปดาห์หลังฉีดโดสแรก และไม่จำกัดอายุที่สูงขึ้นของผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากมีข้อมูลชี้ให้เห็นว่า มีแนวโน้มที่จะมีผลในการป้องกันไวรัสในผู้สูงอายุ

ด้าน ดร.ทีโดรส อัดนาฮอม กีเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO แถลงว่า ยินดีที่จะประกาศว่า วัคซีนโคโรนาแวคของซิโนแวคได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินโดย WHO แล้ว หลังพบว่ามีความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และคุณภาพ เมื่อฉีดวัคซีนเชื้อตายนี้ครบ 2 โดส

“นอกจากนี้ คุณสมบัติในการจัดเก็บง่าย ทำให้โคโรนาแวคเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับพื้นที่ที่มีทรัพยากรจำกัด และนับเป็นวัคซีนตัวที่ 8 แล้วที่ได้รับการอนุมัติกรณีฉุกเฉินโดย WHO”

กลุ่มที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างภูมิคุ้มกัน (SAGE) ระบุว่าผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนพบว่าวัคซีนป้องกันโรคตามอาการที่ระดับ 51% ของผู้ที่ได้รับวัคซีนและป้องกันโควิดที่รุนแรงและการรักษาในโรงพยาบาลได้ 100% ของกลุ่มจำนวนประชากรที่ทำการศึกษา 

มีผู้สูงอายุจำนวนน้อย (อายุมากกว่า 60 ปี) เข้าร่วมการทดลองทางคลินิก ดังนั้นจึงไม่สามารถประเมินประสิทธิภาพได้ในกลุ่มอายุนี้ 

อย่างไรก็ตาม WHO ไม่แนะนำให้จำกัดอายุสูงสุดสำหรับวัคซีน เนื่องจากข้อมูลที่รวบรวมระหว่างการใช้ในภายหลังในหลายประเทศและข้อมูลการสร้างภูมิคุ้มกันที่สนับสนุนแนะนำว่าวัคซีนมีแนวโน้มที่จะมีผลในการป้องกันในผู้สูงอายุ ไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อได้ว่าวัคซีนมีความปลอดภัยที่แตกต่างกันในประชากรที่มีอายุมากกว่าและอายุน้อยกว่า 

จึงแนะนำให้ประเทศต่างๆ ที่ใช้วัคซีนในกลุ่มอายุสูงอายุดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพ เพื่อตรวจสอบผลกระทบคาดว่าจะเกิดขึ้นและมีส่วนช่วยในการให้คำแนะนำที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นสำหรับทุกประเทศ

ขณะเดียวกัน WHO ยังอนุญาตให้ซิโนแวคเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ซึ่งเป็นโครงการระดับโลกในการจัดหาวัคซีนสำหรับประเทศยากจน ขณะนี้ประสบปัญหาด้านอุปทาน เนื่องจากการระงับการส่งออกวัคซีนโควิด-19 ของอินเดีย

การเพิ่มวัคซีนซิโนแวคในรายชื่อวัคซีนโควิด-19 สำหรับใช้กรณีฉุกเฉินของ WHO เป็นการส่งสัญญาณให้กับหน่วยงานกำกับดูแลระดับชาติเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดนี้

ที่มา- globalnews

worldhealthorganization