“V-U-W shaped” 3 โมเดล “เศรษฐกิจไทยฟื้น”

หลังจากที่ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ประกาศตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ ติดลบ 1.8% จากระยะเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวลดลง 2.2% จากไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 หรือไตรมาสก่อนหน้า

และคาดกันว่าในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงของการ “ปิดธุรกิจ ปิดเมือง” ล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อจากไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุ 2019 หรือ โควิด-19  จะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำที่สุดในปีนี้ และอาจจะเห็นตัวเลขตกต่ำที่สุดที่ในประวัติการคาดการณ์เศรษฐกิจไทย

ประเทศไทย น่าจะเข้าสู่ถาวะ เศรษฐกิจถดถอย (Recession) อีกครั้งในช่วงดังกล่าว หลังจากที่เคยเคยประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค มาแล้วจำนวน 4 ครั้งในปี 2540 วิกฤตต้มย้ำกุ้ง  ปี 2551 ในช่วงวิกฤตซับไพร์ม และในปี 2556 และ ปี 2557 ซึ่งเกิดจากวิกฤตทางการเมือง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจถดถอย (Recession) คืออะไร สภาพัฒน์ ระบุว่า คือ ภาวะลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งวัดโดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product:GDP) ณ ราคาที่แท้จริง หลังปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Percentage changequarter on quarter of seasonally adjusted series: % QoQ SA) ติดลบติดต่อกันอย่างน้อยสองไตรมาส

แต่อย่างไรก็ตาม ตามประวัติศาสตร์ทั่วโลก หลังจากถดถอยของเศรษฐกิจในทุกๆ ครั้ง จะมีการทุ่มเทงบประมาณด้านการเงิน การคลัง และการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ เช่น ประชานิยม การให้สวัสดิการเป็นกรณีพิเศษ หรือ การช่วยเหลือทางการเงินแบบให้เปล่า เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวและขยายตัวได้อีกครั้ง

ขณะเดียวกัน มีการทำงานประเภทหรือรูปแบบของการถดถอยและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ไว้หลากหลายรูปแบบแล้วแต่ปัจจัยแวดล้อมที่จะเข้ามากระทบ รวมถึงประสิทธิภาพของการใช้มาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น 

V-Shaped หรือ ภาวะถดถอยแล้วฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หลังจากที่เศรษฐกิจตกไปถึงจุดต่ำสุด และเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

U-Shaped  ภาวะถดถอยช่วงสั้น ๆ  หรือที่เรียกกันว่า เศรษฐกิจมีช่วงตกท้องช้างแล้วฟื้นตัว ขึ้นกับช่วงท้องช้างว่าจะยาวนานแค่ไหน

W-Shaped or Double-dip recessions หรือ ภาวะถดถอยแล้วฟื้นตัวขึ้นแล้วในช่วงแรก แต่กลับไปมีปัจจัยเดิม หรือปัจจัยใหม่ทำให้ถดถอยใหม่ก่อนที่จะฟื้นตัวอีกครั้ง 

L-Shaped ภาวะถดถอยที่ต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว ซึ่งบางประเทศอาจะใช้เวลานานเป็น 10 ปี

แล้วหลังจากภาวะถดถอยในครั้งปีแรกแล้ว เศรษฐกิจไทย จะเป็นไปตามโมเดลของการฟื้นเศรษฐกิจแบบไหน

หากเป็น V-Shaped หลังจากการดิ่งลงอย่างรุนแรงแตะจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 แล้ว และการเปิดเมืองจะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมามีการใช้จ่ายและลงทุนอย่างรวดเร็ว โอกาสที่จะเกิด V-Shaped ก็เป็นไปได้ แต่โอกาสน่าจะเกิดขึ้นน้อย เพราะคนส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะตกงาน รายได้ลด รวมทั้งการใช้วิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal ยังไม่เอื้อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเต็มที่

ดังนั้น หลังจากเปิดเมือง เปิดธุรกิจในระยะที่ 3 และระยะที่ 4 แล้ว เชื่อว่า จะยังมีบริษัทหรือเอสเอ็มอีอีกจำนวนหนึ่งที่จะทยอยปิดกิจการลงอย่างถาวร ทำให้จะมีแรงฉุดเศรษฐกิจต่อไปอีกระยะ ทำให้การฟื้นตัวเข้าสู่ U-Shaped และอย่างที่บอกก่อนหน้าท้องช้างจะหย่อนแค่ไหน ขึ้นกับปัจจัยที่เข้ามากระทบ 

เช่น การระบาดรอบสองของโควิด-19 ที่ไม่รุนแรง และผลจากมาตรการกระตุ้น เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในแต่ละชุดที่ออกไปก่อนหน้า รวมทั้ง การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้งในอนาคต  

ส่วน W-Shaped or Double-dip recessions มีโอกาสเกิดได้หรือไม่ มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน หากเกิดการระบาดของโควิด-19 ในรอบ 2 รุนแรงถึงขั้นต้องกลับมาปิดกิจการของธุรกิจ รวมทั้งการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอีกครั้งหนึ่ง จุดนี้ อาจจะเป็นการฟื้นแบบตัว W หรือ เป็นตัว U สองตัวติดกันก็เป็นไปได้

ขณะที่ทางเลือกสุดท้ายคือ L-Shaped หรือ เศรษฐกิจตกลงไปจุดต่ำสุดแล้วซึมยาว  หรือเศรษฐกิจไม่ฟื้นนั่นเอง ถามว่า มีโอกาสเกิดขึ้นได้หรือไม่ ถ้าให้ตอบตรง ๆ ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ หากภาวะโรคระบาดเกิดขึ้นยาวนาน จนกระทั่งทำลายวงจรรายได้ของประเทศไทย และเศรษฐกิจทั่วโลก เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งภาคการส่งออก การท่องเที่ยว รวมทั้งเกิดปัญหาตกงานจำนวนมากในทุกประเทศ รายได้ลดลงต่อเนื่อง จุดนั้นน่าจะมีธุรกิจ เอสเอ็มอี โรงงานทั่วโลก รวมทั้งไทยทยอยปลดคน หรือล้มละลายสูญหายตายจากไปอีกจำนวนไม่น้อย

ได้แต่หวังว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยจะแรงพอ เร็วพอที่จะตัดวงจรความเสียหายเหล่านั้น ช่วยให้เกิด “รายได้ใหม่” จะเป็นไทยเที่ยวไทย ไทยช่วยไทย  กินใช้ในประเทศ ให้ธุรกิจหันมาใช้วัตถุดิบในประเทศ ฯลฯอย่างไรขอแค่ให้พยุงกันไปได้ตลอดรอดฝั่งก็พอ