“TCEB” เปิดแผนชิงเจ้าภาพ Expo 2028 ซีซัน 2 ชงครม.16 ส.ค.65 ตั้ง Thailand Candidature บุกหาเสียงทั่วโลก-ดันไทยเอ็กซิบิชั่นฮับ

  • “TCEB” เปิดเกมใหม่ 16 ส.ค.65 “รองนายกฯ อนุทิน” ชง ครม.เคลื่อนทัพชิงเจ้าภาพ Special Expo 2028 Phuket Thailand รอบ 2
  • ตั้งกรรมการ Thailand Candidature Committee 23 ส.ค.65
  • เปิดตัวฑูตเดินสายขอเสียงโหวตสมาชิกทั่วโลก 170 ประเทศ ก่อนตัดสิน มิ.ย.66
  • ด้านตลาดไมซ์ปี’65-66 “ในประเทศ” รอแจกงบประชุมเมืองไทย “ต่างประเทศ”
  • อินเดียกับตะวันออกกลางหอบเงินจัดประชุมและอินเซ็นทีฟ
  • ทีเส็บดันไทยผู้นำเอ็กซิบิชั่นฮับหลังบริษัทจัดงานอินเตอร์ย้ายฐานมาไทยเพียบ

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) “TCEB” เปิดเผยว่า การเตรียมความพร้อมนำเสนอการประมูลรอบที่ 2เดือนพฤศจิกายน 2565 เพื่อชิงงาน Special Expo 2028 Phuket Thailand เข้ามาจัดในจังหวัดภูเก็ต นายอนุทิน ชาญวีระกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมรายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 16 สิงหาคม 2565 ถึงผลสรุปความสำเร็จ และแผนงานต่าง ๆ หลังจากคณะกรรมการองค์การนิทรรศการนานาชาติ BIE BIE : Bureau International des Expositions เดินทางมาสำรวจพื้นที่จริงในจังหวัดภูเก็ตเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2565 โดยมีกระทรวง ทบวงกรม เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีให้การสนับสนุนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพอย่างเต็มที่

ในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 รองนายกฯ อนุทิน ชาญวีระกุล  มีภารกิจสำคัญจะเป็นประธานการประชุมจัดตั้งคณะกรรมการ Thailand Candidature Committee โดยมีกระทรวงหลัก ๆ เข้าร่วม ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ในฐานะสมาชิก BIE กระทรวงสาธารณสุข พร้อมกับแต่งตั้งผู้แทนพิเศษเป็นฑูต (influencer) ของประเทศไทย เดินสายไปตามประเทศต่าง ๆ เพื่อช่วยกันหาเสียงให้สมาชิก BIE 170 ประเทศโหวตให้ไทยเป็นเจ้าภาพหลัก ๆ ได้แก่ ทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง และสาธารณรัฐประชาชนจีน

ตามขั้นตอนทีเส็บจะต้องส่งเอกสารรอบที่ 2 การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ Special Expo 2028 Phuket Thailand เพื่อขอเสียงสนับสนุนจากสมาชิกก่อนมิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นรอบตัดสิน ซึ่งขณะนี้ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” (ททท.) ได้รับมอบหมายให้ดูแลงบประมาณด้านประชาสัมพันธ์ภาพรวม โดยร่วมกับทางสถานเอกอัครราชฑูต สถานกงศุลไทยทั่วโลก

ดังนั้นตั้งแต่สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป ประเทศไทยต้องวางแผนดำเนินงานควบคู่กันไป ทางทีเส็บได้จัดเตรียมงบประมาณต่อเนื่องปี 2565-2566 จัดกิจกรรมสำคัญปีละ 2 ครั้ง เพื่อยืนยันความมั่นใจการพร้อมเป็นเจ้าภาพต้องทำ 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่

กิจกรรมที่ 1 จัดประชุมสัมมนา “Future of Life Series” เพื่อสร้างการตระหนักรู้ พร้อมทั้งบรรยายเนื้อหาและธีมงานที่แต่ละประเทศจะเข้ามาร่วมจัดในภูเก็ต ประเทศไทย ปี 2571

กิจกรรมที่ 2 เชิญคณะฑูต ภาคเอกชน และผู้นำทางความคิดต่างชาติที่ประจำอยู่ในประเทศไทยเข้าร่วมแสดงความคิด

ส่วนทางจังหวัดภูเก็ตก็เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมโลจิสติกส์ แผนการเดินทาง ขณะนี้เตรียมสร้างรถไฟฟ้ารางเบา กระเช้าตามสถานที่หลัก สนามบินนานาชาติ เพื่อสนับสนุนการเดินทางได้ง่ายขึ้นในการเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดงาน Special Expo 2028

นายจิรุตถ์กล่าวว่าช่วงเสนอตัวรอบ 2 ก่อนเดือนพฤศจิกายน 2565 เตรียมเชิญคณะฑูตจากประเทศที่มีเสียงเข้ามาพูดคุยกันเพื่อจะได้ช่วยโหวตให้ประเทศไทย ส่วนทางกระทรวงสาธารณสุขก็ดูแลโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตอย่างเต็มพื้นที่เรื่องเดินหน้าโครงการสร้างเมดิคัล ฮับ โดยมีรัฐบาลจัดงบประมาณสนับสนุนไว้เรียบร้อยแล้วปี 2566-2567 ทำให้แล้วเสร็จเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซโป หลังจบงานก็จะได้วางแผนบริหารจัดการให้เป็นระบบอย่างยั่งยืนต่อไปด้วย

ส่วนแผนงากระตุ้นตลาดไมซ์ของทีเส็บก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2565 “ตลาดในประเทศ” ได้ผลิตคลิปโฆษณาประชาสัมพันธ์ “ประชุมเมืองไทย มนต์เสน่ห์แห่งความสำเร็จ” ออกสู่สาธารณะระหว่างสิงหาคม-กันยายน-ต้นตุลาคมนี้ เชิญชวนหน่วยงานราชการจะจัดประชุมช่วงสิงหาคม-กันยายน นี้ จำนวนมากขึ้น เนื่องจากจะต้องเตรียมแผนปีงบประมาณใหม่ 2566 และเอกชนเองก็เตรียมแผนการตลาดปีหน้าเช่นกัน

ทีเส็บจึงใช้จังหวะนี้นำเสนอ “สถานที่จัดประชุมนอกห้อง” มีสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติแบบเอาท์ดอร์กระจายอยู่ทั่วประเทศ ตอนนี้ตลาดประชุมสัมมนาค่อนข้างคึกคักมาก มีทั้งหน่วยราชการ บริษัท ห้างร้าน องค์กร ออกเดินทางจัดประชุมเพื่อพัฒนางาน จิตใจบุคลากร และอื่น ๆ

พอเข้าสู่ปีงบประมาณ 2566 เริ่ม 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ทีเส็บจะเริ่มเดินหน้าแคมเปญต่อเนื่อง “ประชุมเมืองไทยปลอดภัยกว่า” ซีรีย์ต่อเนื่องอีก 2 แคมเปญ เดินหน้าส่งเสริมบริษัทบริหารจัดการงานประชุมสัมมนาหรือการจัดการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล DMC : Destination Management Company

สำหรับ “ตลาดไมซ์ต่างประเทศ” ทีเส็บเพิ่งจัดงานประชุมแบบไฮบริด Meeting & Incentive มีผู้สนใจเข้าร่วมเพื่อส่งเสริมแลกเปลี่ยนแนวคิด สินค้าใหม่ อัพเดทตลาด ผลจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการได้รับการยืนยันสถานการณ์ตลาดไมซ์ดีขึ้นมาก บางส่วนมาจากทวีปไกล ยุโรป สหรัฐอเมริกา แต่ลักษณะกรุ๊ปจะเปลี่ยนแปลงไป คือ

1.ขนาดของกรุ๊ปจัดงานจะเล็กลงมีประมาณ 30-50  และไม่เกิน 100 คน/กรุ๊ป/ครั้ง 2.การเลือกใช้เงินสูงกว่าปกติมากจองพักวิลลาหรูแทนการจองห้องพักโรงแรมทั่วไป 3.การเดินทางเลือกซื้อตั๋วโดยสารชั้นธุรกิจ (business class) เป็นหลัก 4.การจองกับทาง DMC จะเน้นเดินทางมาเป็นซีรีย์ มาด้วยความถี่บ่อยมีจำนวนครั้งการเดินทางเข้ามาเมืองไทยมากขึ้น เพียงแต่จำนวนคนแต่ละครั้งจะน้อยลง จากเดิมก่อนโควิด-19 แต่ละบริษัทเคยมาพร้อมกันครั้งละ 300-400 คน หลั’โควิดเปลี่ยนเป็นกลุ่มผู้บริหารหรือเอ็กเซ็กคลูทีฟมาแทนครั้งละ 30,50, 100 คน/ครั้ง

นายจิรุตถ์กล่าวว่า ทางทีเส็บกับผู้ประกอบการจึงต้องปรับกลยุทธ์ใหม่เรื่องบริการรองรับไมซ์ต่างประเทศที่เปลี่ยนพฤติกรรมไป 4 เรื่อง คือ เรื่องที่ 1 ปรับวิธีอำนวยความสะดวกต้อนรับการเดินทางเข้าประเทศ เช่น เปิด MICE LANE ในสนามบินนานาชาติหลักอย่าง สุวรรณภูมิ ภูเก็ต เรื่องที่ 2 เพิ่มเรื่องการนำเข้าสิ่งของนำเข้ามาจัดแสดงในงานต่าง ๆเรื่องที่ 3 การจัดรถนำขบวนเพื่อความรวดเร็ว เป็นทริปเอ็กซ์คลูซีฟมากขึ้น

เรื่องที่ 4 ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมไมซ์อย่างยั่งยืน เพราะหลังโควิดบริษัทส่วนใหญ่ต้องการนำเสนอการลดหรือชดเชยการปล่อยคาร์บอนออกไซด์ (carbon offset) ดังนั้นจัดแต่ละอีเวนต์ตามสถานที่ต่าง ๆ จะเน้นลดเลิกทำลายธรรมชาติ ทีเส็บจึงใช้โอกาสที่ดีนำเสนอ 7 Theme MICE ทั้งเส้นทางและอื่น ๆ ในพื้นที่ โชว์ศักยภาพให้เห็นถึงการจัดงานไมซ์สามารถช่วยอุดหนุนสินค้าชุมชน กระจายรายได้ด้วยการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ช่วยลดหรือชดเชยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยโลกสร้างความยั่งยืนอย่างชัดเจน

จากการศึกษาทีเส็บพบว่าขณะนี้บริษัทองค์กรขนาดใหญ่ (corporate) เกินกว่า 70 % ที่เดินทางเข้ามาจัดไมซ์ในเมืองไทยเรียกร้องต้องการให้มีสูตรคำนวณการลดหรือชดเชยคาร์บอนแต่ละงาน ถือเป็นสินค้าสำคัญในอนาคตการดูแลลูกค้าแบบเอ็กซ์คลูซีฟควบคู่กับการทำงานอินคลูซีฟใกล้ชิดกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ต้องเน้นส่งเสริมอย่างยั่งยืนต่อไป

สถานการณ์ตลาดไมซ์ต่างประเทศปี 2565 ต่อเนื่องปี 2566 เทรนด์มาแรงคืออินเดียและตะวันออกกลางนิยมเข้ามาจัดประชุม M :Meeting กับการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล I : Incentive

ส่วนการจัดนิทรรศการแสดง หรือ E : Exhibition เมื่อ 2 ปีก่อนฮ่องกงเปิดปัญหาการเมืองภายใน ส่งผลให้บริษัทผู้จัดงานแสดงสินค้าและออร์กาไนเซอร์ระดับนานาชาติ พากันย้ายฐานเข้าไทยจำนวนมากแล้วก็ดึงงานเอ็กซิบิชั่นพร้อมกับสร้างงานใหม่เกี่ยวข้องกับอาหาร พลังงาน และอุตสาหกรรมต่าง ๆ มาจัดในไทย

ล่าสุดทีเส็บกับสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) หรือ TEA :Trade of Exhibition Association จัดโครงการ EO Pro LEAGUE :Journey to Business Success มีออร์กาไนเซอร์ 20 ราย จากเมืองใหญ่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น ภูเก็ต และจังหวัดในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เข้าร่วมอบรมถึงเทคนิควิธีการทำอย่างไรรู้ทันต่างชาติ ทั้งทางด้านระเบียบกฎหมาย การทำตลาด มีโอกาสขยายผลสู่ความสำเร็จทั้งทางด้านธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีระดับชาติอย่างมืออาชีพครอบคลุมทุกด้านยกระดับประเทศไทยผงาดในตลาดโลกต่อไป

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza,www.facebook.com/penroongyaisasasen