“TCEB” ผนึก 136 สถาบันศึกษาลุยปั้นคนไมซ์รับปี’70 โกย 4.2 แสนล้าน

  • ผนึกสถาบันอุดมศึกษาและอาชีวะทั่วไทย ลุยแผนพัฒนาปั้นคนไมซ์ปีละ 50,000 คน
  • เดินหน้าทั่วไทย 3 เรื่อง “ขยายเครือข่าย 5 ภาค 10 แห่ง+เร่งเปิดหลักสูตร+ตั้งศูนย์ไมซ์บิสิเนสเซนเตอร์ 11 แห่ง
  • รองรับอนาคตปี’66 ไมซ์โตจ้างงานนักศึกษาจบใหม่เพิ่ม 5,000 คน
  • ด้าน มอ.สงขลา ขานรับการตั้งศูนย์ใหญ่ “กับ บมจ.ซีเอ็มโอ” ชูจัดบิสิเนสอีเวนต์กวาดลูกค้าต่างชาติ

นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) “TCEB”เปิดเผยว่า ปี 2565 ทีเส็บเดินหน้ายกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์โดยใช้เครือข่ายสถาบันการศึกษาทั่วประเทศเป็นศูนย์กลางธุรกิจครอบคลุมทุกภาค ควบคู่การเปิดหลักสูตรไมซ์สามารถผลิตบุคลากรได้เฉลี่ยปีละ 50,000 คน ขณะนี้สถานศึกษาเข้ารวมแล้วกว่า 136 แห่ง แบ่งเป็น ระดับอุดมศึกษา 87 แห่ง อาชีวศึกษา49 แห่ง ล่าสุดเปิดเพิ่มสาขาวิชาไมซ์หรืออีเวนต์ (MICE Major) อีก 33 แห่ง วางแผนร่วมมือกันเตรียมรองรับการเปิดประเทศตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป

ทีเส็บตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ด้านการศึกษาสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยฝึกอบรมและหน่วยทดสอบคุณวิชาชีพไมซ์ในศูนย์เครือข่ายการศึกษาไมซ์ภูมิภาคทั่วประเทศ 10 แห่ง พร้อมสร้างงานให้บุคลากรและบัณฑิตจบใหม่เพิ่มอีก 5,000 คน ซึ่งจะได้ลงปฎิบัติงานตามเมืองที่ดึงงานเข้ามาจัดในพื้นที่แล้ว พัฒนา MICE Career Platform จับคู่สร้างงานอีกกว่า 1,000 ตำแหน่ง ปี 2566 คาดจะสร้างและพัฒนาเครือข่ายเยาวชนไมซ์เป็นผู้ประกอบการไมซ์รุ่นใหม่ 5,000 คน รวมทั้งมีข้อมูลยืนยันปี 2570 รายได้ไมซ์ของประเทศไทยจะแตะปีละ 420,000 ล้านบาท

ปัจจุบันทีเส็บได้ดำเนินโครงการดังกล่าวมาเป็นปีที่ 6 พร้อมทั้งต่อยอดยกระดับและขยายกรอบการทำงานสู่การจัดตั้งเป็นศูนย์ธุรกิจไมซ์ หรือ MICE Business Center เพื่อร่วมมือกันเร่งขับเคลื่อนและพัฒนาธุรกิจไมซ์ทุกภูมิภาค มีเป้าหมายผลักดันให้ธุรกิจไมซ์ไทยขยายการเติบโตอย่างมีรากฐานมั่นคงและยั่งยืนสร้างมาตรฐานการแข่งขันได้ในระดับโลก ทำให้เป็นศูนย์ธุรกิจไมซ์ป็นศูนย์บริการครบวงจรแบบหรือ One Stop Service รวม 11 ศูนย์ ครอบคลุมทั่วประเทศใน ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน/ตอนล่าง ภาคเหนือตอนบน/ตอนล่าง และภาคใต้

สำหรับการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ของทีเส็บปี 2565 ต้องการยกระดับ 2 ส่วน คือ 1.ตอบโจทย์ตลาดไมซ์นานาชาติ 2.ยุทธศาสตร์ชาติในการมุ่งเสริมการผลิตกำลังคนสมรรถะสูง ตามความต้องการของสถานประกอบการจึงมุ่งเน้นพัฒนา 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านที่ 1 พัฒนาองค์ความรู้ (Content Development) ด้านที่ 2 พัฒนาเครือข่าย(Connection Development) ด้านที่ 3 พัฒนาสายงานอาชีพของแรงงานคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงานไมซ์ (Career Development) โดยทีเส็บได้พัฒนาการผลิตกำลังคนอาชีวะ เข้าสู่ตลาดแรงงานไมซ์คุณภาพ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ส่งเสริมการจ้างงาน เพิ่มการกระจายรายได้จากกิจกรรมไมซ์และการสร้างงานสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ

แล้วทีเส็บยังได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการยกระดับความรู้ สร้างงานสร้างอาชีพ และทักษะใหม่ให้บุคลากรไมซ์ เมื่อวันที่15-16 มิถุนายน 2565 ประกอบด้วย 5 งานสำคัญ ได้แก่

1.งาน 13th Coach the Coaches Program for MICE Industry ยกระดับองค์ความรู้ไมซ์เบื้องต้นให้กับคณาจารย์ ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในอาเซียน

2.งาน 6th MICE Career Day 2022: มหกรรมสายอาชีพไมซ์ สนับสนุนการสร้างอาชีพ โดยพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์จับคู่หางานสายไมซ์ MICE Career Platform ให้เกิดการสร้างคนสร้างงาน ระหว่างสถานประกอบการและเยาวชนนักศึกษา

3.งาน Young MICE Ideators 2022: Metaverse for MICE Industry 101 ปูพื้นความรู้ที่จำเป็นและสำคัญด้านMetaverse ในอุตสาหกรรมไมซ์ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ รวมถึงทักษะใหม่ที่เป็นหัวใจสำคัญในยุค Technology Disruption และ Skill Force หลังยุคปฏิวัติโลก

4.งาน Thailand MICE Youth Challenge 2022: การแข่งขันแผนธุรกิจไมซ์ระดับชาติ คัดเลือกทีมตัวแทนประเทศไทยแข่งขันแผนธุรกิจในเวทีระดับนานาชาติ

5.งาน 6th MICE Academy Day 2022: มหกรรมการศึกษาไมซ์ระดับชาติ ร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์อย่างยั่งยืนให้กับบุคลากรต้นน้ำ ผ่านมาตรฐานการศึกษาในสาขาไมซ์

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ทีเส็บได้ “ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU” กับเครือข่ายสถาบันการศึกษาเรียบร้อยแล้ว เพื่อร่วมมือพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ รองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจไมซ์ให้ตรงกับความต้องการของพื้นที่ และบูรณาการระหว่างภูมิภาคทั่วประเทศ 3 ด้าน ประกอบด้วย

ด้านที่ 1 ความร่วมมือบูรณาการศูนย์เครือข่ายไมซ์ในภูมิภาคระหว่างทีเส็บ กับศูนย์เครือข่ายไมซ์ในภูมิภาค 11 ศูนย์

ด้านที่ 2 ความร่วมมือโครงการตั้งศูนย์เทียบโอนหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านไมซ์ (Non – Degree) สู่ระบบธนาคารสะสมผลการเรียนรู้ (Credit Transfer/Credit Bank) ระหว่างทีเส็บ กับสถาบันการศึกษาไมซ์ 5 แห่ง  

ด้านที่ 3 ความร่วมมือหลักสูตรไมซ์มาตรฐานสากลระหว่างทีเส็บ กับสถาบันการศึกษา และสถาบันอาชีวศึกษา 13 แห่ง

นางศุภวรรณ ยืนยันว่า แผนของทีเส็บเรื่องการพัฒนาบุคลากรเพิ่มในอุตสาหกรรมไมซ์นั้น สอดคล้องกับผลสำรวจของ MPI (Meetings Professional International) Meetings Outlook: 2022 Spring Edition พบว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้ผู้คนเห็นความสำคัญของการกลับมาจัดงานในรูปแบบปกติ โดยมีถึง 64 % ให้ความเห็นว่าธุรกิจจะกลับมาเติบโตอีกครั้งหลังปี 2566 เป็นต้นไป มีผลถึงการใช้งบประมาณจัดงานกับการจ้างพนักงานจะเพิ่มขึ้นตามกันไป โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามกว่าครึ่งหนึ่งระบุว่าต้องประสบปัญหาเรื่องการจัดหาพนักงานที่เหมาะสม ดังนั้นแนวโน้มอัตราการจ้างงานในอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มสูงในอนาคตอันใกล้นี้จะสูงตามไปด้วย

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ ด้วยการส่งเสริมการเรียนการสอนมุ่งเน้นผลลัพธ์โดยเฉพาะการสอนให้เกิดการเรียนรู้อย่างตื่นตัว (Active Learning ) กับการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง อันเป็นแรงผลักดันให้เกิดการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายการศึกษาไมซ์ภาคใต้ (SMAC -Southern MICE Academic Cluster และการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายธุรกิจไมซ์ในภูมิภาค ภายใต้ชื่อ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการจังหวัดสงขลาSCEB -Songkhla Convention and Exhibition Bureau

นับเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้แนวใหม่ (New Learning Platform) สร้างการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เป็นกิจกรรมกระตุ้นนักศึกษาได้เข้ามีส่วนร่วม สามารถฝึกฝนให้เกิดประสบการณ์จริงจากภาคอุตสาหกรรม แล้วสามารถใช้เป็นโจทย์ในการศึกษาวิจัยต่อยอดสู่องค์ความรู้ใหม่ สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นของบุคลากรไมซ์ยุคนิวนอร์มัล

ทางด้าน นายอริยะ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน)” กล่าวว่า ขณะนี้ทุกประเทศกำลังปลดล็อกเปิดประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมไมซ์ประเทศไทยมีศักยภาพและมีโอกาสเติบโตเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศอย่าง ดูไบ (สหรัฐอาหรับเอมริเรตส์) สิงคโปร์ แต่ที่ผ่านมาไทยยังไม่ได้มีงานระดับภูมิภาคเข้ามาจัดไทยมากนัก ทั้งที่นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยวกลุ่มอีเวนต์ธุรกิจมีความต้องการมาไทยเป็นอันดับต้นๆ อยู่แล้ว ดังนั้นตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปจะเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่สุดให้ทุกฝ่ายในประเทศไทยนำอุตสาหกรรมไมซ์ช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น ทั้งโรงแรม ที่พัก การเดินทาง ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า

เนื่องจากมูลค่าตลาดไมซ์ในประเทศไทยคาดการณ์อนาคตปี 2570 จะทำได้สูงถึง 4.2 แสนล้านบาท จากปี 2562 ทำไว้ 2.3 แสนล้านบาท ประเมินการเติบโตเฉลี่ยระหว่างปี 2564-2570 เพิ่มขึ้นปีละ 11.63% รวมถึงทางบริษัทซีเอ็มโอได้ทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอีเวนต์เชิงธุรกิจหรือ Homegrown Event ภายใต้แบรนด์ของซีเอ็มโอ อย่างงานคอนเฟอเรนซ์ สามารถดึงวิทยากร (Speaker) ระดับโลกเข้ามาหลายร้อยคนแล้ว ยังดึงผู้เข้าร่วมงานจากนานาประเทศเข้าด้วย งานที่บริษัทฯกำลังจะจัดขึ้นต่อไปแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านเองก็อยากจะบินมาไทยเพื่อเข้าร่วมงาน ซึ่งได้ความรู้แล้ว ยังนำอุตสาหกรรมไมซ์ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศได้ด้วย

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่งใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen