“TCEB” งัดโปรเจกต์ใหม่ Biz Connect ปั๊มเศรษฐกิจไมซ์ปี’66 ดึง 3 หมื่นงาน รับเทรนด์ลดโลกร้อนจัดใหญ่ TECHMART 2023

  • “TCEB” งัดเครื่องมือใหม่บิ๊กโปรเจ็กต์ “Biz Connect” โกยตลาดไมซ์ไทยและทั่วโลกปี’66
  • ปลุกผู้จัดไมซ์กลุ่มหลักที่ทีเส็บสนับสนุนปีละกว่า 30,000 งาน ตื่นรับเทรนด์ไมซ์ลดโลกร้อน
  • ซื้อขายคาร์บอนฟุตปริ๊นท์เพิ่ม 20% ปี’66 เตรียมจัดมหกรรม “TECH MART 2023”
  • พร้อมเพิ่มจุดขายใหม่ MICE Plus 2 เส้นทางยอดฮิต “ไมซ์เฮลท์&เวลเนส+ไมซ์ชุมชน”

นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้ว่าการสายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) “TCEB” เปิดเผยว่า ได้วางกลยุทธ์พัฒนานวัตกรรมกับเทคโนโลยีปีงบประมาณ 2566 ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทีเส็บมุ่งมั่นให้อุตสาหกรรมไมซ์นำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจไมซ์ได้มากขึ้นทั้งการจัดประชุม และจัดเทศกาลต่าง ๆ โครงการหลัก คือ แอพลิเคชั่น BizConnect ใช้งานได้บนมือถือ ที่จะให้กลุ่มเป้าหมายได้แก่ ผู้จัดการประชุมสัมมนา และผู้เข้าร่วมงาน สามารถลงทะเบียนแต่ละงานเพื่อดูรายละเอียดทั้งหมดเป็นการนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้แทนกระดาษช่วยลดการใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม

ขณะนี้ทีเส็บได้พัฒนาแอพลิเคชั่น BizConnect เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องกับไมซ์ได้ใช้ฟรีในรูปแแบบ All inclusive ประกอบด้วย 1.งานสัมมนา ทุกคนสามารถเปิดดูข้อมูลรายละเอียดงาน วิทยากร หัวข้อประชุมสัมมนา 2.งานประชุมวิชาการต่าง ๆ สามารถทำเป็นคำถามแลกเปลี่ยนระหว่างคนฟังกับวิทยากร ส่งเป็น Chat ให้วิทยากรทราบได้ พอจบงานยังสามารถทำสรุปจำนวนคนเข้าร่วมงาน ความชื่นชอบหัวข้อสัมมนาแต่ละโปรแกรม หัวข้อ วิทยากร และการจัดงานโดนใจอย่างไร 3.งานแสดงสินค้าก็จะลงลึกไปถึงรายชื่อผู้นำสินค้ามาร่วมงาน โชว์ที่ตั้งบูธต่าง ๆ ไฮไลต์ภายในงาน เวทีกลางมีกิจกรรมสำคัญ ๆ ได้แบบครบวงจร

โดยตั้งเป้าหมายปี 2565 กำหนดให้การจัดไมซ์ทั่วประเทศจะต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดทั้งปี200,000 ตัน จากนั้นปี 2566 จะขยับเพิ่มลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้อีก 10-20 % หรือประมาณ 220,000-240,000 ตัน เล็งไปยัง กลุ่มแรก คือกลุ่มจัดงานไมซ์ที่ทีเส็บให้การสนับสนุนเข้ามาร่วมใช้เครื่องมือ BizConnect ซึ่งแต่ละปีจัดไมซ์ระดับท้องถิ่นและระดับประเทศรวมแล้วกว่า 30,000 งาน จำนวนงานมากที่สุดซึ่งเป็นงานสำคัญที่ทีเส็บสนับสนุนปีละ 300-500 งาน

ปี 2566 เครื่องมือใหม่แอพลิเคชั่น BizConnect จะเพิ่มความพิเศษมากขึ้น อีกอย่างน้อย 3 ส่วน ประกอบด้วย

ส่วนที่ 1 สร้างเมนู “เครื่องมือคำนวณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กับคาร์บอนฟุตปริ๊นท์” การจัดไมซ์ ทั้งการจัดงานประชุม แสดงสินค้าและนิทรรศการ เปิดให้ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศใช้งานฟรี โดยจะเพิ่มเครื่องมือใหม่“การคำนวณคาร์บอนฟุตปริ๊นท์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการจัดงานไมซ์อย่างยั่งยืน นอกจากจะช่วยลดมลภาวะและความสูญเสียทางเศรษฐกิจเรื่องการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองแล้ว ปีหน้าในวงการอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งในประเทศและทั่วโลกยังเล็งเห็นถึงการใช้เครื่องมือ “วัดและประเมินผลคาร์บอนฟุตปริ๊นท์” อย่างมีนัยสำคัญด้วย เพื่อจัดงานเพื่อลดโลกร้อนให้ได้มากที่สุด

ดังนั้นทางทีเส็บจึงพยายามร่วมมือกับ “องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) “อวก./TGO :Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization) คิดโมเดลคำนวณสูตรคาร์บอนฟุตปริ๊นท์แบบง่าย ๆ เข้ามาใช้ประเมินผลการจัดไมซ์แต่ละงานถึงการใช้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์กี่ตันต่องาน เท่ากับการปลูกต้นไม้กี่ต้น หากต้องการให้การจัดงานเป็นการลดขยะเป็นศูนย์หรือ Zero Waste รวมทั้งลดการใช้พลังงาน และลดละการปล่อยมลพิษ ให้ใช้เครื่องมือดังกล่าวได้

วิธีที่จะช่วยให้ไมซ์แต่ละงานเข้าร่วมโครงการลดโลกร้อนหรือลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ลดขยะให้เป็นศูนย์ลดพลังงาน ได้ ซึ่งแอพลิเคชั่น BizConnect จะมีสูตรสำเร็จให้ผู้เกี่ยวข้องกับงานไมซ์สามารถใส่ข้อมูลเข้าไปก็จะได้ผลลัพธ์เป็นคำตอบออกมาอย่างเป็นรูปธรรม 4 เรื่องด้วยกัน คือ

เรื่องที่ 1 ผู้เข้าร่วมงานลงทะเบียนผ่านแอพลิเคชั่น BizConnect ใส่รายละเอียดเพิ่มให้มากขึ้นได้แก่ เดินทางมางานด้วยระบบขนส่งใด ทางเครื่องบิน ทางรถ ทางเรือ เดินทางมาจากโซนไหน ในประเทศหรือประเทศใด เพราะการเดินทางโดยเครื่องบินตอนนี้สายการบินสามารถบอกได้ว่าแต่ละคนเดินทางมาระยะทางกี่กิโลเมตร นอกเหนือจากลงทะเบียนปกติทั่วไป

เรื่องที่ 2 การเลือกใช้อาหารที่นำมาบริการภายในงาน ได้เลือกใช้วัตถุดิบจากภายในท้องถิ่น ลดพลังงานการขนส่งและอื่น ๆ  

เรื่องที่ 3 โรงแรมที่จัดงานสามารถนำข้อมูลการเดินทางโดยรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน ของผู้เข้าร่วมงานทั้งหมดมาคำนวณเรื่องการลดคาร์บอนไดออกไซด์รวมเป็นเท่าไร

เรื่องที่ 4 ผู้จัดได้เลือกใช้พลังงานไฟฟ้าภายในแต่ละงานไมซ์ ได้นำเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์/โซลาร์เซลมาใช้ด้วยหรือไม่

ส่วนที่ 2 เตรียมเพิ่มฟีเจอร์ “รูปการเข้าร่วมงานไมซ์” ทั้งจัดแสดงสินค้าและนิทรรศการ อีเวนต์ระดับนานาชาติ และงานอื่น ๆ เนื่องจากผู้จัดและผู้เข้าร่วมงานไมซ์ยุคปัจจุบันเป็นกลุ่มเจนเอ็กซ์ วาย มิลเลนเนียล

ส่วนที่ 3 เพิ่มข้อมูลความรู้ทักษะความสามารถทางดิจิทัล : Digital Literacy ในการจัดสัมมนา จัดประชุม ได้คัดเลือกผู้มีอิทธิพลหรือ Influencer ซึ่งมีรายชื่ออยู่ใน Tech Firm หรือบริษัทเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงระดับประเทศเข้าร่วมสัมภาษณ์ผลิตสื่อ youtube หรือ Portcase Media หรือช่องทีวีดิจิทัลเพิ่มเติม และใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดีย เพื่อให้คนได้เข้าถึงมากที่สุด

ทีเส็บวางแผนจัดมหกรรมงาน “TECH MART” ปี 2565 นำร่องจัดแล้วผู้ประกอบการผลตอบรับดีมาก เพราะต้องการรู้สถานการณ์เชิงลึกถึงการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ของกลุ่ม Tech Firm มีเครื่องมือพร้อมนำไปใช้งานได้อย่างไรบ้างปี 2566 เตรียมจัดงาน “TECH MART 2023” ระดมบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยี กับผู้ประกอบการเข้ามาจับคู่เจรจาธุรกิจร่วมกัน รวมทั้งจะเชิญ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช./NIA :National Innovation Agency สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA :Digital Economy Promtion Agency) สมาคมเทคแห่งประเทศไทย เข้าร่วมนำเสนอเรื่องเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งเมืองไทยยังมีจำนวนไม่มาก จึงต้องไประดมเทคเฟิร์มจากธุรกิจท่องเที่ยวเข้ามาขยายผลในอุตสาหกรรไมซ์ควบคู่กันไป

นางศุภวรรณ กล่าวเพิ่มว่าทีเส็บได้รับงบประมาณปี 2566 ที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยในการจัดทำโครงการที่ 2 “7 Theme MICE Plus หรือไมซ์ชุมชน :Community Base MICE” ขยายผลจากชุมชนท่องเที่ยวมาตอบโจทย์ไมซ์โดยการสกรีนมาตรฐานรองรับงานไมซ์ได้ด้วย เพราะตอนนี้ไมซ์ที่เป็นกลุ่ม Incentive :การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล ตลาดทั้งในประเทศและนานาชาติมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปี 2566 ทีเส็บจะเพิ่มจุดหมายปลายทางให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้นอีก 2 เส้นทาง ได้แก่

เส้นทางที่ 1 “ไมซ์เชิงสุขภาพองค์รวม หรือ Health &Wellness” ปัจจุบันในเมืองไทยมีชุมชนเด่น ๆ ซึ่งเป็นตัวชูโรงโดนใจตลาดคนไทยและต่างชาติทั่วโลก ชุมชนหันมาทำกิจกรรมเรื่องการฝึกสติให้อยู่กับปัจจุบัน (mindfulness)  การทำสมาธิ (meditaion) และการป้องกันดูแลรักษาสุขภาพ จะคัดเลือกหลายพื้นที่เข้าร่วมโครงการ ตัวอย่าง ไมซ์ในเกาหลี ญี่ปุ่น หันมาเร่งทำโครงการ Duel City ส่งเสริมการขายไมซ์ไปยังเมืองหลักกับเมืองใกล้เคียง เช่นเดียวกับไทยก็เตรียมทำแบบเดียวกัน จะไม่ได้อยู่เพียงแค่จังหวัดเดียว จะเชื่อมการเดินทางไปยังพื้นที่ใกล้เคียงด้วย เช่น มากรุงเทพฯ กระตุ้นให้เดินทางต่อไปหัวหิน หรือเชียงใหม่ต่อไปยังสุโขทัย พิษณุโลก หรือภูเก็ตต่อไปยังอันดามันคลัสเตอร์

เส้นทางที่ 2 “ไมซ์ล่องเรือสำราญ” ขณะนี้ทีเส็บเดินหน้าศึกษาวิจัยแล้วจะเริ่มขายปี 2566 โดยได้สำรวจความพร้อมท่าเรือสำราญแล้วขยายเส้นทางดังกล่าวไปยัง เกาะสมุย กับพัทยา เพิ่มขึ้นจากภูเก็ตนั่นเอง

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza,www.facebook.com/penroongyaisamsaen