หลังจากนายกรัฐมนตรี “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ที่มี “นายพิชัย นริพทะพันธุ์” รมว.พาณิชย์เป็นประธาน และมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมด้วยกว่า 20 หน่วยงาน ได้ไม่กี่วัน
คณะกรรมการฯชุดนี้ก็เรียกประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 30 ต.ค.67 พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 2 ชุด โดยมี “นายนภินทร ศรีสรรพางค์”รมช.พาณิชย์ เป็นประธาน
ซึ่งได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทยและแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ และ2.คณะอนุกรรมการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee)
เพื่อแก้ปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูก ไร้มาตรฐาน ทะลักเข้าไทยจำนวนมาก จนส่งผลกระทบ SMEs ไทย พร้อมทั้งหาแนวทางยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันของ SMEs ไทย ให้อยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง และบริบทการค้าโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
รวมทั้งเร่งแก้ปัญหา และกวาดล้าง “นอมินี” หรือคนไทยทำธุรกรรมอำพราง เพื่อช่วยเหลือให้คนต่างด้าวทำธุรกิจในไทยโดยเลี่ยงปฏิบัติตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 ให้หมดไปจากประเทศ
ช่วงสัปดาห์นี้ คณะอนุกรรมการ ทั้ง 2 ชุด จึงนัดประชุมเพื่อวางแนวทางแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนเสนอให้คณะกรรมการฯ ชุดใหญ่ ที่จะประชุมปลายเดือนพ.ย.นี้พิจารณาเห็นชอบ และจะครม.เห็นชอบต่อไป
คุมเข้มสินค้า 3 กลุ่มต้องได้มาตรฐาน
สำหรับการประชุม “คณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทยและแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ” นั้น ได้กำหนดกรอบระยะเวลาการทำงานเป็น 3 ระยะ ได้แก่
1.ระยะสั้น เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้เห็นผลภายใน 3 เดือน 2.ระยะกลาง เพื่อสร้างความคุ้มครองผู้บริโภค และสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs ไทย
และ 3.ระยะยาว เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างยั่งยืน และขยายตลาดสินค้า สร้างความยั่งยืนให้กับ SMEs ไทย พร้อมทั้งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาสินค้าไร้คุณภาพ และการประกอบธุรกิจ คาดว่า มีระยะเวลาดำเนินการเกิน 1 ปี
พร้อมกำหนด 2 มาตรการแก้ปัญหา คือ 1.มาตรการป้องกันและกำกับดูแลสินค้า 3 กลุ่มที่นำเข้าจำนวนมาก นำเข้าอย่างผิดกฎหมาย และเป็นสินค้าไร้มาตรฐาน ได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าอุตสาหกรรม
โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบสินค้า ที่จะต้องได้มาตรฐาน ทั้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาตรฐานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ
เพื่อปกป้อง คุ้มครองผู้บริโภคให้บริโภคสินค้าที่มีความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และชีวิต!!
บังคับอี–คอมเมิร์ซต่างชาติจดทะเบียน
ขณะเดียวกัน จะออกมาตรการเพิ่มเติมให้รองรับกับสภาพปัญหา และรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการซื้อขายทางออนไลน์
โดยจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้ธุรกิจอี–คอมเมิร์ซจากต่างประเทศ ต้องจดทะเบียนการค้าในไทย เพื่อให้ติดตาม และตรวจสอบได้ และสร้างความเท่าเทียมให้กับธุรกิจไทย คาดว่า จะดำเนินการได้ช่วงต้นปี 68
ส่วน TEMU แพลตฟอร์มอี–คอมเมิร์ซจากจีนนั้น ได้ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลในไทย กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว เมื่อวันที่ 11 พ.ย.67
โดยจากนี้ หาก TEMU จะทำธุรกิจบริการในไทยภายใต้พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จะต้องขออนุญาต และจะพิจารณาสัดส่วนการถือหุ้นระหว่างคนไทยและต่างชาติ ที่ต้องเป็นไปตามกฎหมายต่างด้าว
ขณะที่มาตรการที่ 2 คือ การส่งเสริม พัฒนา และต่อยอด โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนมูลค่าของ SMEs ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)จาก 35.2% ในปี 66 เป็น 40% ภายในปี 70 ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ได้วางแผนไว้แล้ว
ทั้งจัดกิจกรรมอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ งานแสดงสินค้า งานมหกรรมต่างๆ การสนับสนุนทุนและเครื่องมือในการทำธุรกิจสำหรับ SMEs การผลักดันผู้ประกอบการให้ขายผ่านออนไลน์ การเจรจาจับคู่ธุรกิจ และการออกนิทรรศการในต่างประเทศ เป็นต้น
เปิดแนวทางกวาดล้างนอมินีให้สิ้นซาก
ขณะที่การประชุม “คณะอนุกรรมการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee)” นั้น ได้วางแนวทางแก้ปัญหา 3 ระยะเช่นกัน ทั้งระยะสั้น ที่ต้องดำเนินการให้เสร็จภายในสิ้นปี 67
ระยะกลาง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้สินค้าไทยแข่งขันได้ภายในปี 68 และระยะยาว เพื่อขยายตลาดและสร้างความยั่งยืน พร้อมแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนต.ค.68 เป็นต้นไป
โดยระยะสั้น จะใช้อำนาจของทุกหน่วยงานในการตรวจสอบ สืบสวน สอบสวนบุคคล หรือธุรกิจเสี่ยง และดำเนินคดี รวมถึงแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างแต่ละหน่วยงาน เพื่อสร้างฐานข้อมูลเดียวกัน ที่จะใช้สืบสวน สอบสวน ตรวจสอบหาธุรกิจที่กระทำผิดและเข้าข่ายนอมินี
ส่วนระยะกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า อยู่ระหว่างจัดทำระบบวิเคราะห์แนวโน้มพฤติกรรมของนิติบุคค ที่มีผลต่อการการดำเนินธุรกิจตามกฎหมาย (IBAS) เพื่อจับผิดนิติบุคคลเสี่ยง คาดว่า จะเสร็จในไม่เกิน 6 เดือน
ขณะที่ระยะยาว จะแก้ไขกฎหมายของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สามารถไม่รับจดทะเบียนบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงตามกฎหมายปปง.
ยกตัวอย่างเช่น อาชญากรข้ามชาติ มีชื่อเป็นกรรมการในบริษัท ที่จะขอจดทะเบียนจัดตั้งกับกรม จากปัจจุบัน ที่กรมยังรับจดให้ได้ เพราะตามอำนาจหน้าที่ กรมจะไม่รับจดเฉพาะบุคคลล้มละลาย และบุคคลไร้ความสามารถเท่านั้น
โดยการแก้ไขกฎหมายน่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี รวมทั้งอาจเพิ่มบทลงโทษกรณีการเป็นนอมินีให้มากขึ้น เพื่อให้เกรงกลัวการกระทำผิด
ขู่คนไทยเลิกเป็นนอมินีเหตุมีโทษอาญา
สำหรับผลสรุปของแนวทางแก้ปัญหาของคณะอนุกรรมการฯทั้ง 2 ชุดนั้น จะนำเสนอให้คณะกรรมการฯชุดใหญ่ ที่จะประชุมในช่วงปลายเดือนพ.ย.นี้ พิจารณาเห็นชอบ ก่อนเสนอให้ครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป
โดย “นายนภินทร” หวังว่าการวางกรอบทำงาน จะช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยลดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากสินค้าราคาถูกและคุณภาพต่ำ ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการทำตลาดของผู้ประกอบการไทย
อีกทั้งการควบคุมคุณภาพสินค้านำเข้า จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ช่วยให้สินค้าจาก SMEs ไทยได้รับความไว้วางใจและมีโอกาสขยายตลาดได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของ SMEs ไทย
ขณะที่ปัญหานอมินีนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นกรณีที่ต่างด้าวเข้ามาครอบงำธุรกิจของไทย ส่งผลเสียหายต่อธุรกิจไทย และทำลายเศรษฐกิจไทย จึงตั้งเป้าหมายให้นอมินีหมดไปจากประเทศ!!
เพราะธุรกิจที่มีคามเสี่ยงเป็นนอมินีนั้น จะเป็นธุรกิจบริการที่สร้างรายได้ให้ประเทศมหาศาล และมีคนเกี่ยวข้องจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และค้าที่ดิน ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจให้บริการเช่าโกดังและคลังสินค้า รววมถึงธุรกิจค้าเหล็ก ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ฯลฯ
“ขอฝากเตือนคนไทยที่เป็นนอมินี ให้เลิกพฤติกรรมนี้ และให้แจ้งเบาะแส หรือให้ข้อมูลต่างๆ กับทางการ จะกันไว้เป็นพยาน ซึ่งจะทำให้ความผิดลดลง
ส่วนบุคคลที่กำลังได้รับการทาบทาม ชักชวน หรือว่าจ้างให้เป็นนอมินีก็ขอให้เลิกคิด เพราะเงินที่ได้ไม่คุ้มค่ากับโทษอาญาที่จะได้รับ”
โดยกรณีนอมินี มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ 100,00 – 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากไม่ปฏิบัติคำสั่งศาล ต้องระวางโทษปรับวันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะยุติการฝ่าฝืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : กระทรวงพาณิชย์ รับลูก “นายก แพทองธาร-กกร.” แก้ปัญหาเป็นระบบเร่งด่วน ทั้งปัญหาสินค้านำเข้าด้อยคุณภาพ