“สุริยะ” ชง ครม. สัญจร “เชียงใหม่-เชียงราย” ต่ออายุค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
"สุริยะ" ชง ครม. สัญจร “เชียงใหม่-เชียงราย” ต่ออายุค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย


“สุริยะ” ชง ครม. สัญจร “เชียงใหม่-เชียงราย” 29 พ.ย.นี้ ไฟเขียวต่ออายุมาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย “สีแดง-สีม่วง” ออกไปอีก 1 ปี หวังลดภาระค่าครองชีพพี่น้องประชาชนอย่างไร้รอยต่อ

พร้อมเปิดเมกะโปรเจกต์ “บก-ราง-อากาศ” จ่อเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติ สร้างโอกาสให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง ยกระดับคมนาคมไทย ก้าวสู่ศูนย์กลางในภูมิภาค

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่ จ.เชียงใหม่-เชียงราย ในวันที่ 29 พ.ย.67 กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอให้ที่ประชุม ครม. ต่ออายุมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท (20 บาทตลอดสาย) 2 โครงการ คือ โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงสายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ – ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์ – รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 

และโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ( รฟม.) ออกไปอีก 1 ปี โดยจะครบกำหนดในวันที่ 30 พ.ย.68 จากเดิมจะสิ้นสุดอายุมาตรการในวันที่ 30 พ.ย.67 โดยการดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ในการลดภาระค่าครองชีพและค่าเดินทางของพี่น้องประชาชน

ทั้งนี้ นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น ยังคงมีแนวโน้มยอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลของ รฟท. ระบุว่า ในช่วงเดือน ต.ค.67 รถไฟฟ้าสายสีแดง มีผู้ใช้บริการอยู่ที่ 1,056,783 คน 

ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีม่วง ในเดือนต.ค.67 มียอดผู้ใช้บริการอยู่ที่ 2,153,904 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย ขณะที่การดำเนินมาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในทุกเส้นทาง ทุกสี และทุกสายนั้น ยืนยันว่า จะเป็นไปตามที่กำหนดไว้ ในเดือน ก.ย.68 อย่างแน่นอน ประกอบกับรอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตั๋วร่วม พ.ศ. ….

ซึ่งล่าสุดกระทรวงคมนาคมได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ไปยัง ครม. แล้ว อยู่ระหว่างรอบรรจุเป็นวาระการประชุม ครม. และเข้าสู่กระบวนการอื่น ๆ ต่อไป

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้เตรียมเสนอโครงการสำคัญอีกหลายโครงการให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาอนุมัติในอนาคต เพื่อเร่งดำเนินการติดตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ตามที่เคยประกาศไว้ ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อสร้างโอกาสให้กับประชาชนและประเทศไทย ให้ได้รับประโยชน์ในทุกภาคส่วน 

พร้อมยกระดับการคมนาคมขนส่งของไทย ก้าวสู่ศูนย์กลางในภูมิภาค ประกอบด้วย โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) วงแหวนรอบนอก ด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง (M9), โครงการมอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยายอุตราภิมุข รังสิต-บางปะอิน (M5)

การขอทบทวนมติ ครม. และขอปรับกรอบวงเงินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยล่าสุดกระทรวงคมนาคมเสนอ ครม. แล้ว อยู่ระหว่างรอบรรจุเป็นวาระการประชุม ครม. และโครงการให้บริการคลังสินค้า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของผู้ประกอบการรายที่ 2 โดยล่าสุดกระทรวงคมนาคม เสนอ ครม. แล้ว อยู่ระหว่างการบรรจุเป็นวาระการประชุม ครม. 

สำหรับโครงการลงทุน และการดำเนินการสำคัญ ที่อยู่ระหว่างขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนประมวลเรื่องเสนอ ครม. ประกอบด้วย โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานคร ด้านตะวันออก โดยสถานะล่าสุดสำนักงบประมาณเสนอความเห็นแล้ว รอความเห็นจากกระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

โครงการมอเตอร์เวย์วงแหวนรอบนอก กทม. ช่วงบางบัวทอง – บางปะอิน (M9) ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนของ รอความเห็นจากหน่วยงาน, โครงการทางพิเศษ จ.ภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงกระทู้-ป่าตอง ล่าสุดอยู่ขั้นตอนของรอความเห็นจากหน่วยงาน, โครงการเช่ารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด (EV)

ล่าสุดสถานะอยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคม พิจารณา ก่อนส่งเรื่องให้ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และ สศช. พิจารณาเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. ต่อไป

ขณะเดียวกัน ยังมีการขอทบทวนมติ ครม. และขออนุมัติรวมโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา และสถานีเพิ่มเติม 3 สถานี (สถานสะพานพระราม 6 สถานีบางกราย – กฟผ. และสถานีบ้านฉิมพลี) และโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช เข้าด้วยกัน เพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นสัญญาเดียว ล่าสุดอยู่ขั้นตอนของรอความเห็นจากหน่วยงาน 

อีกทั้ง ขออนุมัติดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสุดเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย) ซึ่งขณะนี้อยู่ขั้นตอนของรอความเห็นจากหน่วยงาน รวมถึงโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะ 2 จำนวน 6 เส้นทาง 

โดยสถานะล่าสุด สำนักงบประมาณเสนอความเห็นแล้ว รอความเห็นจากกระทรวงการคลัง กับ สศช. และโครงการขออนุมัติจัดหารถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า (บตท.) โดยกำหนดให้นำชิ้นส่วนภายในประเทศและต่างประเทศมาประกอบภายในประเทศจำนวน 946 คัน ล่าสุดกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณเสนอความเห็นแล้ว และอยู่ระหว่างรอความเห็นจาก สศช. 

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ขณะที่โครงการลงทุนและการดำเนินงานสำคัญที่อยู่ระหว่างให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) พิจารณา ได้แก่ โครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางในเขตพิเศษบริเวณบางโปรง โดยสถานะอยู่ระหว่าง สนข. วิเคราะห์เรื่องเสนอโครงการฯ ส่วนเรื่องสำคัญอื่น ๆ ที่กระทรวงคมนาคม เสนอสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว อยู่ระหว่างกระบวนการนำเสนอ ครม. ต่อไป 

ขณะเดียวกัน ยังมีการขออนุมัติหลักเกณฑ์การคำนวณเงินชดเชยค่างานก่อสร้าง K (Price Adjustment) เพื่อขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2532 เป็นกรณีพิเศษเฉพาะสำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต เฉพาะในส่วนของงานโยธาของสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 พร้อมทั้งขออนุมัติกรอบวงเงินเพิ่มเติมสำหรับงานเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ ของ รฟท.

กระทรวงคมนาคม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : รฟม.ยันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ผลดีเกินคาด