คณะทำงานนายกฯ ย้ำรัฐบาลฯ กำชับใส่ใจการบริหารตลาดเกษตร แก้เหลื่อมล้ำ – มั่นใจราคาสินค้าเกษตรจะดีขึ้นโดยไม่กระทบผู้บริโภค-ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรได้
นายศุภกร คงสมจิตต์ คณะทำงานของนายกรัฐมนตรี ด้านการลงทุนระหว่างประเทศ กล่าวถึงปัญหาราคาสินค้าด้านเกษตรว่า ไม่ใช่มีเพียงการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หรือพุ่งสูง แต่ยังจำเป็นจะต้องช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้กับเกษตรกรด้วย
นายกฯ : กำชับเรื่องการใส่ใจในการบริหารตลาด
ที่ผ่านมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กำชับเรื่องการใส่ใจในการบริหารตลาด เพื่อทำให้ราคาพืชผลดี จนมีเสียงสะท้อนตามมาว่า หากเกษตรกรรายได้ดี อาจทำให้ผู้คน มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะราคาสินค้าเกษตรต่าง ๆ ในตลาดไม่ได้สูงขึ้น แต่เกษตรกร สามารถขายของได้ราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวขายได้ราคาขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงยางดิบ และจะต้องจับตาราคาข้าวโพด, มันสำปะหลัง, ลำไย, มังคุด, เงาะ, กระเทียม, หอมใหญ่, หอมแดง, พริก, สับปะรด ฯลฯ ซึ่งหากเกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้น 20-50% ก็เสมือนได้โบนัส 2-6 เดือนต่อรอบการเก็บเกี่ยว
ประเทศไทยซึ่งมีประชาชนอยู่ในภาคการเกษตรเกือบ 40 ล้านคน หากทุกคนรายได้ดีขึ้น พร้อม ๆ กัน โดยที่คนจำนวนมากก็พอใจด้วย ก็จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ส่วนสาเหตุที่เมื่อเกษตรกร ขายของแพงขึ้น แต่ราคาที่ผู้คนซื้อ ไม่ได้สูงขึ้นด้วยนั้น
การบริหารตลาด ลดคนกลางทำให้ เกษตรกร มีรายได้มากยิ่งขึ้น
นายศุภกร ระบุว่า เป็นส่วนต่างที่เป็นกำไรของพ่อค้าคนกลาง ซึ่งเมื่อราคาส่วนต่างลดลง กำไรของคนกลางก็จะลดลง จนค่อย ๆ ลดลงกลับไปสู่จุดสมดุล และในต่างจังหวัดหลาย ๆ ที่คนเหล่านี้ ก็เป็นคนที่ปล่อยกู้นอกระบบ ขายปุ๋ย เงินเชื่อ ซึ่งเกษตรกรต้องไปกราบไหว้ขอโอกาส เพื่อมาเลี้ยงชีพให้ผ่านไปแต่ละฤดูกาล แต่หากเกษตรกร มีรายได้มากยิ่งขึ้น ก็จะสามารถจ่ายหนี้ได้ ทำให้ความสัมพันธ์ ระหว่างนายทุน-เกษตรกร เปลี่ยนไป ความเกรงกลัวการทวงหนี้ก็จะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ และความเหลื่อมล้ำก็จะลดลง
นายศุภกร ยังมั่นใจว่า จากราคาผลผลิตที่ดีขึ้นนี้ กำลังจะทำให้เกษตรกรไทยได้โบนัส และสามารถนำเงินไปปลดหนี้ได้ ความเหลื่อมล้ำจากการเป็นหนี้ ความเกรงกลัวต่อเจ้าหนี้ต่าง ๆ ก็จะค่อย ๆ ลดลง เกษตรกร จะยกระดับความเป็นอยู่ได้ สามารถนำเวลา และทรัพยากรที่มี ไปพัฒนาความรู้ ความสามารถให้กับตนเอง และครอบครัวได้มากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “โครงการหลวง 55” ส่งตรงผลิตภัณฑ์โดยเกษตรกรบนพื้นที่สูง สู่ผู้บริโภคในเมือง