EXIM BANK ผนึกไอแบงก์-พันธมิตร ยกระดับ SMEs สินค้าฮาลาลไทย



EXIM BANK ผนึกกำลัง ไอแบงก์ พร้อมหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชน ขยายความร่วมมือ ยกระดับระบบนิเวศของอุตสาหกรรม สินค้าฮาลาลไทย ในทุกมิติ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ สินค้าฮาลาลไทย สู่การส่งออก หวังขับเคลื่อนการเติบโตของการส่งออกอุตสาหรรมฮาลาลไทยในปีนี้

  • เผยตลาดสินค้าฮาลาล ได้รับความนิยมมากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิม แต่ขยายวงกว้างสู่กลุ่มผู้บริโภคอื่น ๆ ด้วย
  • ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่อันดับที่ 15 ของโลก เป็นจุดหมายท่องเที่ยวอันดับ 4 ของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมทั่วโลก
  • แนะผู้ประกอบการไทย ควรยกระดับการพัฒนาสินค้าฮาลาล โดยเฉพาะอาหารที่ไทยมีศักยภาพ และอัตลักษณ์ที่โดดเด่น

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลสู่การส่งออก” ร่วมกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ พร้อมพันธมิตร 14 หน่วยงาน ลุยส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ไทย ให้สามารถส่งออกสินค้าฮาลาล ไปยังตลาดต่างประเทศได้ ผ่านการบูรณาการความร่วมมือในการส่งเสริม และพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการด้านฮาลาล ทิศทางการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศในโลกยุคใหม่

รวมถึงการเข้าถึงการขอเครื่องหมายรับรองมาตรฐานฮาลาล การขยายโอกาสทางการค้าผ่านกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ และการออกงานแสดงสินค้าในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเครื่องมือทางการเงินเพื่อเสริมศักยภาพของธุรกิจ และการบริหารความเสี่ยงทางการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ

“ตลาดสินค้าฮาลาล ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิม แต่ยังขยายวงกว้างไปสู่กลุ่มผู้บริโภคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมด้วย นับเป็นตลาดขนาดใหญ่ ที่เต็มไปด้วยโอกาสอีกมากสำหรับผู้ประกอบการทั่วโลกรวมทั้งไทย” นายรักษ์ กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่อันดับที่ 15 ของโลก และเป็นจุดหมายท่องเที่ยวอันดับ 4 ของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมทั่วโลก (ในกลุ่มประเทศ Non-OIC) ที่สนใจสินค้าอาหาร และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของไทย

ขณะที่ผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่ของโลก ที่ส่งออกไปกลุ่มองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ได้แก่ บราซิล อินเดีย สหรัฐฯ รัสเซีย และอินโดนีเซีย ส่วนผู้นำเข้าอาหารฮาลาลในกลุ่ม OIC รายใหญ่ของโลก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรยกระดับการพัฒนาสินค้าฮาลาล โดยเฉพาะอาหารที่ไทยมีศักยภาพ และอัตลักษณ์ที่โดดเด่น เป็นที่นิยมระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นอาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ เช่น ผัก ผลไม้ หรืออาหารที่ได้รับการรับรองตามหลักศาสนาอิสลาม ว่าชาวมุสลิมสามารถบริโภคได้ ซึ่งจะได้รับการยอมรับในระดับสากลถึงความสะอาด ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และเลือดสัตว์ถูกต้องตามหลักศาสนา และไม่ทารุณสัตว์ เป็นต้น

ทั้งนี้ EXIM BANK พร้อมสานพลังกับหน่วยงานพันธมิตร สร้างผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลของไทย ที่แข่งขันได้ในตลาดโลก ผ่านการเติมความรู้ เติมโอกาส และเติมเงินทุน รวมถึงเครื่องมือทางการเงิน ที่ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

โดยจัดให้มีสิทธิพิเศษด้านประกันการส่งออก ให้แก่ลูกค้าของไอแบงก์ ที่เป็นชาวมุสลิม และสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการไทยทั่วไป ที่ต้องการเงินทุนจาก EXIM BANK เพื่อเริ่มต้นส่งออกสินค้าฮาลาล หรือขยายธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอัตราพิเศษ เพื่อสร้างนักรบเศรษฐกิจไทยในตลาดโลก สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลสู่ ASEAN Halal Hub ภายในปี 2571

ทั้งนี้ ในช่วงปีที่ผ่านมา EXIM BANK ได้ปล่อยสินเชื่อสนับสนุน ผู้ส่งออกฮาลาลไป 1,500 ล้านบาท ทำให้เกิดการส่งออกสินค้าฮาลาลได้ 5,000 ล้านบาท มาปี 67 นี้ ก็ตั้งใจขยายสินเชื่อสำหรับฮาลาลเพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาท โดยจะช่วยให้เกิดการส่งออกสินค้าฮาลาลเกือบ 10,000 ล้านบาท

โดยมีสินเชื่อ อาทิ สินเชื่อเอ็กซิมเริ่มต้นส่งออก ดอกเบี้ยเริ่มต้น 5.35% ต่อปี วงเงิน 3 ล้านบาท และพิเศษผู้เข้าร่วมโครงการนี้ได้รับส่วนลดดอกเบี้ยปีแรก 0.25%  สินเชื่อ เอ็กซิม กรีน สตาร์ท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.10% วงเงิน 200 ล้านบาท ได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก 0.25% และสินเชื่อเอ็กซิมเติมทุนส่งออก ดอกเบี้ยเริ่มต้น 4%  วงเงิน 20 ล้านบาท

ด้านนายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2555 ถึง 2565 มีรายงานการเติบโตของการใช้จ่ายผู้บริโภคจากตลาดฮาลาลเพิ่มสูงขึ้นกว่า 40% จาก 1.62 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ไปถึง 2.29 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการเติบโตนี้เกิดจาก แรงผลักดันของการขยายประชากรมุสลิมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

โดยวันนี้ประชากรมุสลิมมีเกือบ 2,000 ล้านคนทั่วโลก โดยกลุ่มบริษัทระดับโลก ตั้งแต่ BRF บริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ของโลก เนสท์เล่ ไปจนถึง Nike ลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ตลาดฮาลาล

นอกจากนี้ World Bank ก็ให้ความสนใจกับการเงินอิสลามในมิติด้านสังคม ประเทศไทย โดยรัฐบาลก็เล็งเห็นการขยายตัวของตลาดฮาลาลโลก ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย จึงทำให้มีแนวคิดจัดตั้งหน่วยงาน หรือคณะทำงานต่าง ๆ ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ

โดยในวันนี้ ไอแบงก์ และ EXIM BANK ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านฮาลาล ครอบคลุมทุกภาคส่วนของประเทศ เพื่อตกลงร่วมกันผลักดันส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก

สำหรับ ไอแบงก์ ได้ออกสินเชื่อ อิกไนท์ ฮาลาล สนับสนุนสภาพคล่องแก่ธุรกิจฮาลาล ทั้งกลุ่มท่องเที่ยว การแพทย์ สุขภาพ และกลุ่มธุรกิจอาหาร หวังผลักดันธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ให้สามารถเข้าแหล่งเงินทุนฮาลาล  วงเงินสินเชื่อ 1-5 ล้านบาท ผ่อนสูงสุด 7 ปี  ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน  และสำหรับลูกค้าในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ส่วนลดค่าผ่อนเพียง 50% 

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : มาเลเซียและไทยตกลงร่วมมือพัฒนาสินค้าและ มาตรฐานฮาลาล