CEA ดึงซอฟท์ เพาเวอร์ 5 F 15 สาขา ดันไทยฮับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ปั้น DNA แบรนด์ชาติไทย จุดแข็งยุทธศาสตร์ BCG ผงาดในเวทีโลก

  • ผู้นำใหม่ CEA ดันไทยศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านพลัง ซอฟท์ เพาเวอร์
  • ปั้น DNA แบรนด์ประจำชาติไทย ผงาดในตลาดโลก
  • บูม 5 F “Food-Fight-Festival-fashion-Film”
  • บวกอุตสาหกรรมหลัก และดาวรุ่ง 15 สาขา สร้างเศรษฐกิจ BCG นำประเทศสู่ความยั่งยืน

ดร.ชาคริต  พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “CEA” เปิดเผยว่าในฐานะผู้บริหารใหม่พร้อมจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ทั้ง 15 สาขา ด้วยยุทธศาสตร์ ซอฟท์ เพาเวอร์ หลังรัฐบาลประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วยซอฟท์ เพาเวอร์ โดยมี CEA เป็นหนึ่งคณะกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการชุดด้วย พร้อมจับมือทุกภาคส่วนในการเสริมสร้างบทบาทความเป็นผู้นำของไทยในเวทีโลกสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ เลือกนำดีเอ็นเอของชาติมาเป็นวัตถุดิบสำคัญขยายความออกไปผ่านความสามารถของนักสร้างสรรค์ ซึ่งประเทศไทยมีสินทรัพย์ทั้งที่จับต้องได้

สถิติปี 2563 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศมีมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7.5% ของ GDP ไทย มีอัตราการจ้างงานสูงถึงกว่า 9 แสนคน เติบโต เฉลี่ยปีละ 1.2% ต่อปี ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

นับจากนี้เป็นต้นไป CEA พร้อมจะผลักดันซอฟท์ เพาเวอร์ ของไทย ที่โดดเด่น 5F  ได้แก่ อาหาร/Food มวยไทย/ Fighting เทศกาล/Festival  ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น/Fashion และภาพยนตร์/Film)  โดยเฟ้นหาสินทรัพย์ที่เป็นจุดแข็งและมีการรับรู้ในตลาดสากล เพื่อสร้าง “แบรนด์ประจำชาติ” ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมนำมาพัฒนาต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ เพื่อส่งออกคอนเทนต์ไทยไปสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลก 

ปี 2565 ได้ปูพรมยกระดับพลังซอฟท์ เพาเวอร์ ส่งต่อปี 2566 ทำให้ 5F เข้มข้นมากยิ่งขึ้นจาก 15 สาขา ได้แก่ กลุ่มที่1 อุตสาหกรรมบันเทิง (ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ซีรีส์ ดนตรี) กลุ่มที่ 2 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (แฟชั่นและการออกแบบผลิตภัณฑ์) กลุ่มที่ 3 อุตสาหกรรม Digital Content (เกม การ์ตูน แอปพลิเคชัน) อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสามารถผลักดันออกสู่ตลาดได้ทันที ได้แก่ 3 อุตสาหกรรมหลัก คือ ภาพยนตร์ ดนตรีละครและซีรีส์ โดยเฉพาะซีรีส์วาย เติบโตอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ข้อมูลล่าสุด Global Soft Power Index 2022 โดย Brand Finance ระบุว่า ปี 2565 ผลการจัดอันดับประเทศทั่วโลกไทยอยู่อันดับ 35 จาก 120 ประเทศ ได้ 40.2 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ทำได้ 38.7 คะแนน ในเอเชีย ไทยอยู่อันดับ 6 รองจาก สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และอินเดีย โดยมีซอฟท์ เพาเวอร์เป็นตัวชี้วัดที่ทำประเทศไทยได้คะแนนสูงจากตัวชี้วัดหลักทั้ง 7 ด้าน คือ ธุรกิจและการค้า (Business and Trade) วัฒนธรรมและมรดก (Culture and Heritage) รวมถึงผู้คนและค่านิยม (People and Values) สะท้อนจุดแข็งชัดเจนของประเทศไทยมีต้นทุนวัฒนธรรมชัดเจน

ดร.ชาคริต กล่าวว่า CEA ยังคงเดินหน้าเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในฐานะผู้ขับเคลื่อน(Facilitator) ผ่านซอฟท์ เพาเวอร์ ให้เกิดเป็นรูปธรรม ผ่านภารกิจการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์แก่คนไทย ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในประเทศให้มีศักยภาพพร้อมแข่งขันระดับสากล รวมทั้งเป็นตัวกลางเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ ให้เห็นมูลค่าการส่งออกซอฟท์ เพาเวอร์ ด้วยการเตรียมความพร้อมปรับตัวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระยะยาว ทางด้าน 1.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาทักษะดิจิทัล 2.การนำเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้ธุรกิจ 3.ผลักดันกระบวนการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและสร้างระบบฐานข้อมูลอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อเชื่อมต่อกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล และเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ

หลังจากปี 2564 ตลาดคอนเทนต์ละครวาย มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ไปยังลูกค้าในอาเซียน+3 จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้ง ไต้หวันและฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและละตินอเมริกา เติบโตสูงมากและอุตสาหกรรมดาวรุ่ง ได้แก่ อุตสาหกรรมเกม อุตสาหกรรมการ์ตูนและคาแรคเตอร์   ตลาดหลัก คือ กลุ่มประเทศอาเซียน+3 อเมริกาเหนือ และยุโรป

CEA วางแผนสนับสนุน “กีฬาอีสปอร์ต/E-Sports” อีกหนึ่งอุตสาหกรรมมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจัดการแข่งขันอีสปอร์ตในภูมิภาคอาเซียน (Hub of E-Sports Leagues and Tournaments in ASEAN เพราะมีศักยภาพเติบโตสูง สอดรับกับความสนใจในตลาดคนรุ่นใหม่ สร้างระบบนิเวศให้อุตสาหกรรมเกมและแอนิเมชันให้เติบโตเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงพร้อมร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนส่งเสริมการแข่งขันอีสปอร์ต บ่มเพาะแรงงานสร้างสรรค์ ให้มีความรู้ด้านการบริหารจัดการและการทำการตลาดผู้ประกอบการเกม ส่งเสริมธุรกิจเกี่ยวเนื่องและต่อยอดจากเกมให้เติบโตอย่างรวดเร็ว

ดร.ชาคริต  ยืนยันว่า CEA วางแผนอนาคตการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการสร้างซอฟท์ เพาเวอร์โดยเน้น 1.การพัฒนาบุคลากรสร้างสรรค์ : Creative People 2.การเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ธุรกิจสร้างสรรค์ : Creative Business 3.การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ : Creative Place ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์ คือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของทุนวัฒนธรรมและเมืองสร้างสรรค์ (Empower cultural asset and creative city)

ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาศักยภาพธุรกิจสร้างสรรค์และยกระดับทักษะสร้างสรรค์ของคนไทย (Build creative business competitiveness)

ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย ภายใต้บริบทใหม่ เพื่อการแข่งขันในระดับสากล (Enter the global market)

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza,www.facebook.com/penroongyaisamsaen