“CAAS สิงคโปร์-JCAB ญี่ปุ่น” พลิกโฉมฮับการบินเอเชีย 6 เรื่อง

ผู้นำ 2 องค์การการบินพลเรือน CAAS สิงคโปร์ กับ JCAB ญี่ปุ่น ประชุมและลงนาม
ผู้นำ 2 องค์การการบินพลเรือน CAAS สิงคโปร์ กับ JCAB ญี่ปุ่น ประชุมและลงนามเดินหน้ากระชับความร่วมมือเชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศครบวงจร


2 องค์การบินพลเรือน “CAAS” สิงคโปร์ กับ “JCAB” ญี่ปุ่น ผนึกความร่วมมือด้านขนส่งทางอากาศครบวงจร 6 เรื่อง ขานรับ 20 ปีหน้า การเดินทางโต 2 เท่า ร่วมกับพันธมิตรระดับโลกนำร่องเปิด “ป้องปฏิบัติการบินอินเตอร์” แชร์ความเชี่ยวชาญ 2 ฮับการบินให้เอเชียแปซิฟิก

นายฮัน ค็อก ฮวน ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนสิงคโปร์ (CAAS) กับ นายโอนุมะ โทชิยูกิ รองผู้อำนวยการอาวุโสสำนักงานการบินพลเรือนญี่ปุ่น (JCAB) ร่วมเป็นประธานการประชุมพร้อมกับลงนามข้อตกลงความร่วมมือกันที่ท่าอากาศยานคันไซ ญี่ปุ่น โดยทั้ง 2 หน่วยงานจะเดินหน้ากระชับ “ความร่วมมือเชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศครบวงจร” ทั้งด้านการบินที่ยั่งยืน ความปลอดภัย การจัดการจราจรทางอากาศ นวัตกรรมการบิน ระบบอากาศยานไร้คนขับ (UAS) การเคลื่อนย้ายทางอากาศขั้นสูง (AAM) เพื่อตอบสนองความต้องการการเดินทางทางอากาศทั่วโลก คาดอีก 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มอย่างน้อย 2 เท่า จึงจะร่วมกันขับเคลื่อน 6 เรื่องหลัก คือ

JCAB นำ ผู้บริหาร CAAS
JCAB นำ ผู้บริหาร CAAS เยี่ยมชมสถานีเติมไฮโดรเจนบริการภาคพื้นดินในสนามบินนานาชาติโอซาก้าและคันไซ

@พ.ย.67เที่ยวบินสิงคโปร์-ญี่ปุ่นฟื้น 90% ลุยต่อ 6 เรื่อง

เรื่องที่ 1 การเชื่อมต่อทางอากาศ ตั้งแต่พฤศจิกายน 2567 การเดินทางทางอากาศระหว่างสิงคโปร์และญี่ปุ่นฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง มีเที่ยวบินบริการ 165 เที่ยว/ต่อสัปดาห์ จาก 7 สายการบิน ฟื้นตัวแล้วเกือบ 90% จากช่วงก่อนเกิดโควิด และดีกว่าปีก่อนทำได้เพียง 70% ตามผลคาดการณ์ของ CAAS และ JCAB ระบุปี 2567 การบินจะฟื้นตัวเต็มที่จึงตกลงจะทำงานร่วมกันเพื่อต่อเชื่อมทางอากาศและปรับปรุงการบินให้ตรงต่อเวลา มีประสิทธิภาพ ให้บริการผู้โดยสารได้ดีขึ้น

เรื่องที่ 2 การบินที่ยั่งยืน ได้ตระหนักถึงการมีส่วนสนับสนุนใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (SAF :Sustainable Aviation Fuel ) ในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ทั้ง CAAS และ JCAB จะสำรวจโอกาสเปิดแหล่งวัตถุดิบ SAF และเส้นทางการผลิตเพิ่มเติมในภูมิภาค และมีส่วนสนับสนุนขยายอุปทานเชื้อเพลิงเข้าเงื่อนไข CORSIA (CEF) อีกทั้งจะเริ่มหารือถึงกิจกรรมความร่วมมือในอนาคตเกี่ยวกับการนำไฮโดรเจนมาใช้เสริมการลดคาร์บอน เช่น การแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งานยานยนต์ภาคพื้นดินที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจน ซึ่งทาง JCAB ได้เชิญCAAS เข้าเยี่ยมชมสถานีเติมไฮโดรเจนยานยนต์สนับสนุนภาคพื้นดินที่ขับเคลื่อนด้วยเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่ 2 สนามบินนานาชาติคือโอซาก้าและคันไซด้วย

@มุ่งเพิ่มความปลอดภัยจัดจราจรทางอากาศ

เรื่องที่ 3 ความปลอดภัยทางการบิน CAAS และ JCAB กำลังทำงานร่วมกันเพื่อเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่ฮาเนดะและมาตรการต่างๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการบิน โดยเฉพาะรันเวย์ เนื่องจากปริมาณการเดินทางทางอากาศเพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้เทคโนโลยีป้องกันการบุกรุกรันเวย์ที่อาจเกิดขึ้น การนำแผนปฏิบัติการดังกล่าวมาเพิ่มความปลอดภัยอย่างครอบคลุม และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมสายการบิน ผู้ประกอบการสนามบิน บริษัทให้บริการภาคพื้นดิน ผู้ให้บริการเดินอากาศ

เรื่องที่ 4 การจัดการจราจรทางอากาศ (ATM) ได้ร่วมกันริเริ่มโครงการ User Preferred Route (UPR) ซึ่งอนุญาตให้นักบินเลือกเส้นทางตรงไปยังจุดหมายปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยไม่ต้องยึดตามเส้นทางที่กำหนดไว้ล่วงหน้า จึงประหยัดเวลาบินและลดปล่อยคาร์บอน ทั้งสองฝ่ายตกลงจะนำ UPR มาใช้ในภูมิภาค โดยญี่ปุ่นได้เปิดตัว Ground Based Augmentation System (GBAS) Landing System (GLS) เป็นเทคโนโลยีล้ำสมัย ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองใช้งานจริงสนามบินฮาเนดะ โดยนำมาปรับปรุงความปลอดภัยและประสิทธิภาพเครื่องบินการลงจอด ใช้ข้อมูลนำทางผ่านดาวเทียม แล้วญี่ปุ่นยังอัปเดตสถานะการรบกวนคลื่นวิทยุ (RFI) ของ GNSS (ระบบนำทางด้วยดาวเทียมทั่วโลก) ในญี่ปุ่นด้วย

@ญี่ปุ่นสิงคโปร์นำร่องห้องปฏิบัติการบินอินเตอร์

เรื่องที่ 5 นวัตกรรมการบิน ตกลงจะทำงานร่วมกันใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้ดียิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและผลผลิต ตอบสนองความต้องการการเดินทางทางอากาศที่เพิ่มขึ้น เมื่อ 10 พฤศจิกายน นี้ ท่าอากาศยานนาริตะได้ลงนามในข้อตกลงร่วมเข้าร่วมห้องปฏิบัติการการบินระหว่างประเทศกับ แอร์บัส โบอิ้ง ชางยี แอร์พอร์ต CAAS สิงคโปร์แอร์ไลน์ส กลุ่มสายการบินนานาชาติ (IAG), International Centre for Aviation Innovation (ICAI), SATS Ltd มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและการออกแบบแห่งสิงคโปร์ (SUTD) จัดตั้ง “ห้องปฏิบัติการการบินระหว่างประเทศ” ขึ้นเพื่อพัฒนาโซลูชันนวัตกรรมรองรับการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานท่าอากาศยานทั่วโลก 

ทางสนามบินนาริตะจะช่วยให้ห้องปฏิบัติการได้รับประโยชน์จากความเชี่ยวชาญมากมายของญี่ปุ่นในการดำเนินงานท่าอากาศยานและระบบนิเวศเทคโนโลยี โดย CAAS ได้เยี่ยมชมท่าอากาศยานนานาชาติโอซาก้าและคันไซเพื่อดูโครงการนวัตกรรมท่าอากาศยานต่าง ๆ รวมถึงเรือลากจูง Mototok กับสะพานขนถ่ายผู้โดยสารอัตโนมัติ

เรื่องที่ 6 UAS และ AAM ทั้ง 2 องค์กรจะทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวดเพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนการบูรณาการการดำเนินงาน UAS และ AAM กับการบินทั่วไปในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างปลอดภัย ทั้งสิงคโปร์และญี่ปุ่นเป็นสมาชิกที่กระตือรือร้นร่วมประชุมผู้กำกับดูแลเอเชียแปซิฟิกเกี่ยวกับ AAM และ UAS โดยทำงานร่วมกับรัฐและหน่วยงานบริหารอื่น ๆ ในเอเชียแปซิฟิกอีก 22 แห่ง เพื่อพัฒนาเอกสารอ้างอิง AAM และ UAS ซึ่งจะเผยแพร่ภายในกลางปี 2568

@ผู้นำ CAAS-JCABแบ่งปันความเชี่ยวชาญหนุนฮับบินเอเชีย

นายฮัน ค็อก ฮวน ผู้อำนวยการใหญ่ CAAS กล่าวว่า การเจรจาระหว่างสิงคโปร์และญี่ปุ่น ครั้งที่ 3 ถือเป็นก้าวสำคัญความร่วมมือด้านการบินพลเรือนของ 2 ศูนย์กลางการบินหลักในเอเชียแปซิฟิกมีความมุ่งมั่นจะทำงานร่วมกันแบ่งปันความเชี่ยวชาญเตรียมความพร้อมเติบโตและตอบสนองความต้องการการเดินทางทางอากาศที่เพิ่มขึ้น ทาง CAAS ยังยินดีต้อนรับท่าอากาศยานนาริตะเข้าร่วมห้องปฏิบัติการการบินระหว่างประเทศอย่างอบอุ่น ได้รับประโยชน์จากความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการปฏิบัติการอันล้ำลึกของญี่ปุ่น ยืนยันถึงคุณค่าอันเปลี่ยนแปลงที่สามารถนำมาสู่การดำเนินงานของท่าอากาศยานทั่วโลกได้

นายโอนุมะ โทชิยูกิ รองผู้อำนวยการอาวุโสของ JCAB กล่าวแสดงความพึงพอใจและชื่นชมที่ได้เห็นความก้าวหน้าอย่างมากของความร่วมมือแก้ไขปัญหาต่างๆ พร้อมกับย้ำทั้ง 2 หน่วยงานได้ปูทางความร่วมมือในอนาคตผ่านการประชุม 3 ครั้ง รวมทั้งต้องการมีโอกาสมากมายหารือกันเป็นรายบุคคลหรือในบริบทการประชุมระดับภูมิภาคหรือระดับโลกต่อไป

เรื่องโดย #เพ็ญรุ่งใยสามเสน #gurutourza

สำนักงานการบินพลเรือนสิงคโปร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :CAAS เผย 4 ชาติพลิกโฉม การบิน โลก เปิด 38 เส้นทางลดคาร์บอน