Apple เตรียมเปิดให้บริการแอป ECG แจ้งเตือนจังหวะการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอบน Apple Watch ในไทย

สิ้นสุดการรอคอยแล้ว สำหรับผู้ใช้นาฬิกาแอปเปิล วอชท์ (Apple Watch) เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ได้อนุมัติแอปพลิเคชั่น ECG ผ่าน App Store เพื่อใช้งานตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจผ่านแอปเปิล วอชท์ ในประเทศไทย

ทางแอปเปิลระบุว่ารุ่นที่จะรองรับตั้งแต่ Series 4, 5 และ 6  แต่ SE ไม่สามารถใช้ได้  โดยเตรียมเปิดให้อัพเด็ท iOS 14.4 และ wachOS 7.3 ในเร็วๆ นี้และเริ่มใช้งานได้ทันทีกับการวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจจากข้อมือของตนเอง รวมถึงบันทึกจังหวะการเต้นของหัวใจในเวลาที่อยากทราบเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจของตนเองและแชร์ข้อมูลสำคัญนี้กับแพทย์ได้

ทางแอปเปิล ไม่แนะนำให้ผู้ใช้วัด ECG หลายครั้งติดต่อกัน หรือในขณะที่ไม่ได้มีอาการ เนื่องจากคุณสมบัติดังกล่าวออกแบบมาสำหรับการใช้งานขณะมีอาการเช่น หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นข้ามจังหวะ

คุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้ทำงานร่วมกันเพื่อช่วยผู้ใช้ระบุสัญญาณของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (AFib) ซึ่งเป็นจังหวะการเต้นไม่สม่ำเสมอที่พบได้บ่อยที่สุด

  • แอป ECG ช่วยให้ลูกค้าสามารถวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจจากข้อมือของตนเอง รวมถึงบันทึกจังหวะการเต้นของหัวใจในเวลาที่ลูกค้าอยากทราบเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจของตนเอง และแชร์ข้อมูลสำคัญนี้กับแพทย์ได้
  • ขั้วไฟฟ้าในผลึกบนฝาหลังรวมถึงใน Digital Crown ของ Apple Watch Series 4, 5 และ 6 ทำงานร่วมกับแอป ECG เพื่อให้ลูกค้าวัด ECG ได้คล้ายกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบจุดเดียว ผู้ใช้สามารถวัด ECG ได้โดยการเปิดแอป ECG ใหม่บน Apple Watch Series 4, 5 และ 6 แล้วใช้นิ้วแตะ Digital Crown ค้างไว้ และเมื่อผู้ใช้แตะDigital Crown จะทำให้ระบบครบวงจรและมีการวัดสัญญาณไฟฟ้าจากหัวใจ จากนั้นเมื่อครบ 30 วินาที แอพจะจัดประเภทจังหวะการเต้นของหัวใจเป็น AFib, จังหวะไซนัส, อัตราการเต้นของหัวใจช้าหรือเร็ว หรือไม่สามารถสรุปผลได้ นอกจากนี้ค่าทั้งหมดที่บันทึก รวมถึงการจัดประเภทที่เกี่ยวข้องและอาการที่ระบุไว้จะได้รับการจัดเก็บอยู่ในแอพสุขภาพบน iPhone โดยที่ผู้ใช้สามารถแชร์ผลลัพธ์ในรูปแบบ PDF กับแพทย์ได้
  • คุณสมบัติแจ้งเตือนจังหวะการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอทำให้ Apple Watch สามารถตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจของผู้ใช้อยู่ในเบื้องหลังเป็นระยะๆ เพื่อหาสัญญาณของภาวะ AFib และแจ้งเตือนผู้ใช้หากตรวจพบจังหวะการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอ โดยที่ Apple Watch จะใช้เซ็นเซอร์วัดหัวใจแบบออปติคอลที่มีอยู่ใน Apple Watch Series 3 และใหม่กว่าเพื่อแจ้งเตือนผู้ใช้หากพบจังหวะการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอจากการตรวจสอบจังหวะการเต้น 5 ครั้งภายในระยะเวลา 65 นาทีเป็นอย่างต่ำ

รายงานอย่างเป็นทางการ

  • แอพ ECG— มีการทดลองทางคลินิกกับผู้เข้าร่วมประมาณ545 คนเพื่อตรวจสอบยืนยันความสามารถของแอพ ECG ในการจัดประเภทค่า ECG เป็นภาวะAFib และจังหวะไซนัสอย่างแม่นยำ— มีการเปรียบเทียบการจัดประเภทจังหวะการเต้นจากการวัด ECG แบบ 12 จุดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ กับการจัดประเภทจังหวะการเต้นจาก ECG ที่วัดด้วยแอพ ECG ในเวลาเดียวกันและพบว่าแอพ ECG มีความไวในการจัดประเภทภาวะ AFib อยู่ที่ 98.5% และมีความจำเพาะในการจัดประเภทจังหวะไซนัสอยู่ที่ 99.3% สำหรับค่าบันทึกที่สามารถจัดประเภทได้
  • การแจ้งเตือนจังหวะการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอ— มีการศึกษาต่อเนื่องเพื่อตรวจสอบความถูกต้องทางคลินิกโดยนำข้อมูลที่เก็บจาก Apple Heart Study มาวิเคราะห์เพื่อหาว่า Apple Watch ที่มีคุณสมบัติแจ้งเตือนจังหวะการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอนั้นจะสามารถระบุรูปแบบที่เป็นสัญญาณของภาวะAFib ได้หรือไม่ และจากเซตย่อยของข้อมูลดังกล่าวพบว่าผู้เข้าร่วม 98% ที่ได้รับการแจ้งเตือนว่ามีจังหวะการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอขณะใส่ Apple Watch และติดแผ่น ECG สำหรับติดตามการทำงานของหัวใจในเวลาเดียวกันนั้นแสดงภาวะAFib หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรูปแบบอื่นที่มีความเกี่ยวข้องทางคลินิกบนแผ่น ECG สำหรับติดตามการทำงานของหัวใจ