AOT เดินหน้าฉีดวัคซีนโควิดให้บุคลากรเต็มสูบ สร้างความมั่นใจให้ผู้โดยสาร รับการเดินทางแบบ New Normal ทุกสนามบิน

ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ยังคงมีความน่าเป็นห่วง และต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงการพบเชื้อสายพันธุ์ต่างๆที่แพร่ระบาด ก็สร้างความวิตกกังวลให้กับหลายๆคนไม่ใช่น้อย

ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศชาติ ผ่านพ้นวิกฤตไวรัสร้ายนี้ไปได้คือ “การร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกคน” โดยการดำเนินชีวิตในแต่ละวันด้วยความไม่ประมาท การ์ดไม่ตก สวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ไม่ไปในพื้นที่แออัด ฯลฯ 

รวมถึงการ “ฉีดวัคซีน” เพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19  เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศไทยโดยเร็วที่สุด 

ทั้งนี้ยิ่งจัดการปัญหาเชื้อโควิด-19 ได้เร็วเท่าไร ไม่ใช่จะส่งผลดีเพียงแค่ต่อระบบสาธารณสุข หรือสุขภาพของคนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นผลดีต่อด้านต่างๆอีกมากมาย หนึ่งในนั้นคือเรื่องของระบบเศรษฐกิจ ที่เม็ดเงินจะกลับมาหมุนเวียนธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการ คนกลับมาทำงาน พ่อค้าแม่ค้ากลับมาขายของ การท่องเที่ยวฟื้น 

ล่าสุดบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ก็ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเดินหน้าระดมฉีดวัคซีนให้เจ้าหน้าที่ด่านหน้าของท่าอากาศยานในสังกัดของ ทอท. ทั้ง 6 แห่ง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานภูเก็ต, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย แบบเต็มสูบ

ทั้งนี้หากมีการบริหารจัดการเรื่องการฉีดวัคซีนให้เจ้าหน้าที่ และพนักงานของท่าอากาศยานในสังกัด ทอท. ครบ100% ก็จะสร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้โดยสารและผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ให้มั่นใจได้ว่า ไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงไม่เป็นคนแพร่เชื้อออกไปสู่บุคคลอื่นๆในภายนอก รวมถึงการจัดการที่ดีในเวลานี้ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่มาจากต่างประเทศ ไม่ให้ระบาดเพิ่มซ้ำเข้าในประเทศไทยอีกด้วย

น.ท.สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวว่า ถ้าทุกคนในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ได้รับการฉีดวัคซีนแบบ 100% สิ่งแรกที่จะได้รับคือเรื่องการต้านทานแบบหมู่จากไวรัส ซึ่งก็จะเห็นได้จากในหลายประเทศ พอมีการฉีดวัคซีนกันไป 70% ของจำนวนประชากรสถิติการติดเชื้อก็ลดลง

ทั้งนี้หากทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้จัดสรรให้มีการฉีดวัคซีนแบบจริงจังก็จะเป็นสิ่งที่ดี ก่อนหน้านี้ ทอท.ได้รับรองเรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 จากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization – ICAO) ไอเคโอ ว่าทั้ง 6 สนามบิน ที่อยู่ในสังกัด ทอท. มีการบริหารจัดการที่ดีในเรื่องโควิด-19 ในระดับโลก และถึงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะมีผู้ให้บริการ ทุกกลุ่มได้รับการฉีดวัคซีน100% แล้ว ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ทั้งผู้โดยสารที่เดินทางในประเทศ กลุ่มผู้โดยสารต่างประเทศ ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้สำหรับความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนให้กับผู้ปฏิบัติงานในท่าอากาศยานในสังกัด ทอท. โดยขณะนี้ได้มีการระดมฉีดวัคซีนให้กับพนักงานของ ทอท. ที่ปฏิบัติงานพบปะผู้โดยสาร หน่วยราชการอื่นๆ ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ และเจ้าหน้าที่สายการบินต่างๆ โดยยอดฉีดวัคซีน (28 พ.ค.64) 

1.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 6,354 คน 

2.ท่าอากาศยานดอนเมือง และสำนักงานใหญ่ ฉีดแล้ว 4,102 คน

3.ท่าอากาศยานภูเก็ต ฉีดแล้ว 2,581 คน

4.ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ฉีดแล้ว 500 คน

5.ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ฉีดแล้ว 319 คน

6.ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ฉีดแล้ว 353 คน 

นอกจากนี้ในส่วนของท่าอากาศยานภูเก็ต ที่รัฐบาลวางเป้าหมายกำหนดให้เป็นจังหวัดท่องเที่ยวนำร่อง รองรับการเปิดประเทศ ร.ต.ธานี ช่วงชู ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต กล่าวว่า ผลจากการตรวจคัดกรอกประชาชนที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานภูเก็ต โดยมีการตรวจเชื้อโควิด-19 แบบ Rapid test ตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีการตรวจผู้โดยสารไปแล้วกว่า 10,000 คน โดยในจำนวนนี้พบผู้โดยสารที่มีผลตรวจเป็นบวก 10 กว่าคนโดยทั้งหมดถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาต่อในโรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อย 

ทั้งนี้การตรวจแบบ Rapid test ที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะสามารถช่วยตรวจคัดกรอกผู้ติดเชื้อเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี ระงับการแพร่ระบาดจากเชื้อโควิด-19 จากท่าอากาศยานภูเก็ตได้

ร.ต.ธานี กล่าวต่อว่า เมื่อเร็วๆนี้ ทางท่าอากาศยานภูเก็ต ได้มีนัดประชุมในเรื่องการตรวจคัดกรอกแบบ Rapid test โดยกล่าวว่าหากท่าอากาศยานภูเก็ต ยืนยันที่จะนำร่องเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว บินตรงเข้ามาเที่ยวภูเก็ตโดยไม่ต้องกักตัว หรือทราเวลแซนด์บล็อก ในวันที่ 1 ก.ค.2564 นี้ โดยเชื่อว่าการคัดกรอกแบบRapid test ของท่าอากาศยานภูเก็ต อาจจะเป็นมาตรการที่ใช้ผสมผสานกับมาตรการอื่นๆ ที่ทางท่าอากาศยานฯ เคยรายงานในที่ประชุมใหญ่ไว้แล้ว

ทั้งนี้ก่อนการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ท่าอากาศยานภูเก็ตเป็นท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสารเดินทางเข้า-ออก เป็นจำนวนมากกว่า 10,000 คนต่อวัน มีเที่ยวบินให้บริการกว่า 300 เที่ยวบิน 

อย่างไรก็ตาม หลังรัฐบาลมีนโยบายเปิดจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวนำร่อง รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้เข้ามาท่องเที่ยวได้จากมาตรการ “ภูเก็ตทราเวลแซนด์บล็อก” ในวันที่ 1 ก.ค.2564 นี้ ก็มีสายการบินจากประเทศต่างๆประสานงานมายังท่าอากาศยานภูเก็ตแล้วจำนวนมาก อาทิ สายการบินรัสเซีย โดยมีชาวรัสเซียกว่า 5 แสนคน มีความประสงค์จะเดินทางมาเที่ยวในภูเก็ต หลังเดือน ก.ค. นี้ รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนอีกด้วย