“AOT” ชี้สัญญาณดีปี’66 ส่อเค้ามีกำไร EBIDA เป็นบวกไตรมาส 1 ต.ค.- พ.ย.นี้ ผู้ โดยสาร 6 สนามบินพุ่ง 3 ล้านคน

  • บิ๊ก ทอท.ชี้ปี’66 AOT จ่อมีกำไร ไตรมาส 1 EBIDA พ.ย.65 เริ่มเป็นบวก
  • ตั้งแต่ ต.ค.65 ผู้โดยสาร 6 สนามบิน พุ่งเดือนละ 3 ล้านคน
  • ตลาดตะวันออกกลาง อินเดีย มาแรง เร่งแก้ปัญหาคอขวดใหญ่ บริษัทเดิมขนกระเป๋าไม่ทัน
  • เล็งเพิ่มบริษัทรายใหม่เข้ามาเสริมทัพ ส่วนอาคารแซทเทิลไลต์จะเปิด ก.ย.66

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) “ทอท./AOT” เปิดเผยว่า การพลิกฟื้นผู้โดยสารกลับมาใช้สนามบินนานาชาติที่อยู่ในความดูแลทั้ง 6 แห่ง มีสัญญาณดีอันจะส่งผลให้AOT ปีงบประมาณ 2566 (1 ตุลาคม 2565-30 กันยายน 2566) มีแนวโน้มจะกลับมาทำกำไรได้บ้างเล็กน้อยหลักพันล้านบาท รวมทั้งจะส่งผลให้จะเกิดกำไรก่อนหักภาษีหรือ EBIDA ไตรมาส 1 แนวโน้มจะเป็นบวกเล็กน้อย เมื่อเข้าสู่ช่วงตารางบินฤดูหนาวปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป ส่วนกำไรสุทธิอาจจะยังปริ่มอยู่เล็กน้อย จะต้องรอดูสถานการณ์เดือนธันวาคมนี้อีกครั้ง

ปัจจัยบวกที่เป็นแรงส่งให้ EBIDA เป็นบวกเริ่มขึ้นหลังจากเดือนตุลาคม 2565 จนถึงขณะนี้มีผู้โดยสารทยอยใช้บริการรวมทุกสนามบินสูงขึ้นถึง 3 ล้านคน/เดือน (เดิมช่วงกันยายน 2565 มีผู้โดยสารเฉลี่ยเพียง 1.9 แสนคน) จาก“ในประเทศ” มีปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารในประเทศเป็นปกติแล้ว 100 % ส่วน “ต่างประเทศ” หลังรัฐบาลไทยเปิดประเทศแล้วปีงบประมาณใหม่นี้กำลังไต่ระดับทยอยเพิ่มขึ้นเป็น 70 % โดยมีตลาดหลักจากตะวันออกกลางอินเดีย จากนั้นปี 2567 ก็จะเป็นปกติ 100 %

โดยภาพรวมก่อนสถานการณ์โควิด-19 ปี 2562 มีรายได้ประมาณ 60,000 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 ยังคงขาดทุนประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท ปี 2566 จะทำกำไรได้บ้างเล็กน้อย

ส่วนการเปิดอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ Satle light Terminal ที่จะรองรับเพิ่มได้อีก 15 ล้านคน จากปัจจุบัน 45 เป็น60 ล้านคน นั้น กำหนดเปิดบริการปกติประมาณเดือนกันยายน 2566 เป็นต้นไป จะเปิดเร็วขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับสาเหตุหลักมาจากส่วนใด และต้องรับสภาพต้นทุนค่าใช้จ่ายบริหารจัดการเดือนละประมาณ 300 ล้านบาท แต่หากเป็นเรื่องพื้นที่ก็พร้อมจะเปิดได้ทันที ทำให้ตอนนี้ ทอท.จะต้องวิเคราะห์ถึงต้นปัญหาที่เกิดความคั่งของผู้โดยสารในสนามบินตอนนี้ยังไม่เห็นสัญญาณจากสาเหตุพื้นที่รองรับไม่เพียงแต่ เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ

1.สล็อตเข้าออกของสายการบินระหว่างประเทศ ในแต่ละบางช่วงเวลาแทบจะไม่มีเที่ยวบิน แต่จะไปหนาแน่นกระจุกตัวบางช่วงมากเกินขีดความสามารถของเคาน์เตอร์บริการที่เกี่ยวข้องจะรองรับได้ เช่น เคาน์เตอร์ตรวจหนังสือเดินทางของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) บริการภาคพื้นขนสัมภาระกระเป๋าของบริษัทที่ได้รับสัมปทาน 2.โครงสร้างขององค์กรให้บริการในสนามบินถูกทำลายลงไปอันเป็นผลมาจากลดจำนวนพนักงานจนไม่สามารถกลับมาในระบบได้ เมื่อมีผู้โดยสารกลับมาใช้สนามบินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขณะที่การเปิดประมูลหาผู้ประกอบการเข้ามารับสัมปทานกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารเพิ่มใหม่ในสนามบิน นอกเหนือจากปัจจุบันมีอยู่แล้ว 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้สัมปทานงานนี้ไปจนถึงปี 2582 แล้วมีส่วนแบ่งให้บริการขนสัมภาระกระเป๋าผู้โดยสารของสายการบินลูกค้าอยู่ประมาณ 80 % ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสั่งการให้คำหนังสือแจ้งเตือนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2565 และให้เร่งแก้ไขด่วน ทอท.จะต้องรอคำตอบจากการบินไทยภายใน 90 วัน เหตุที่ต้องทำหนังสือแจ้งเตือนเนื่องจากผู้โดยสารร้องเรียนบริการปัญหารอกระเป๋าในแต่ละเที่ยวบินนานกว่าปกติ ส่วน บริษัท บางกอก อินไฟลต์ เซอร์วิสเซส จำกัด (BFS) มีส่วนแบ่งลูกค้าอยู่ 20 % สัญญาจะสิ้นสุดปี 2568 อาจจะได้รับการต่อสัญญาเนื่องจากบริการมีคุณภาพและปฏิบัติตามเงื่อนไขได้เป็นอย่างดี

สำหรับการเปิดประมูลเพิ่มผู้ประกอบการใหม่ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวนั้นยังต้องรอคณะกรรมการชุด นายสุพัฒนพงศ์พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณา ซึ่ง ทอท.ได้เสนอเรื่องไปที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งเป็นเลขาคณะกรรมการชุดดังกล่าว โดยการประชุมครั้งหลังสุดคณะกรรมการชุดดังกล่าวยืนยันปัญหาบริการขนสัมภาระกระเป๋าในสนามบินของทอท.ยังไม่ใช่กรณีเร่งด่วน จึงต้องรอต่อไป รวมทั้ง ทอท.ก็ไม่สามารถนำบริษัทที่มีอยู่แล้วอย่าง บริษัท ทอท.กราวนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด -AOTGA /AOT Ground Services Company Ltd.ให้บริการภาคพื้นในสนามบินเข้าไปดำเนินการได้ ทั้งที่ปัจจุบันบริการขนสัมภาระอยู่ในสนามบินดอนเมืองและภูเก็ตจนได้รับรางวัลมาแล้วเช่นกัน

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen