AIS ปักหมุดจุดจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์บนแพลตฟอร์ม E-Waste+ รายแรกของ SEA

  • ดึง Blockchain ช่วยเสริมศักยภาพ
  • จับมือองค์การก๊าซเรือนกระจกฯ
  • แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS  (เอไอเอส)​ กล่าวว่า จากสถานการณ์โลกที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในทุกภาคส่วน สิ่งที่ตามมาคือ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานดิจิทัลก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ดังนั้นเราจึงทำหน้าที่ 2 ส่วนคือ สร้างการรับรู้และตระหนักถึงโทษภัยของขยะ E-Waste ในขณะเดียวกันก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการจัดเก็บและทำลาย E-Waste อย่างถูกวิธี ทั้งการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ตั้งจุดรับทิ้งและนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในวงกว้างมากขึ้น

 “เอไอเอส จึงขยายผลไปอีกขั้นด้วยการ Redesign Ecosystem เพื่อให้องค์กรต่างๆ สามารถลงมือบริหารจัดการ E-Waste ในองค์กรเองได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านเครือข่ายพนักงานและลูกค้าของแต่ละองค์กร เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการนำขยะ E-Waste กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐาน ผ่านแพลตฟอร์ม E-Waste+ โดยเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งมีการทำงานที่ครอบคลุมเพื่อให้เห็นผลอย่างชัดเจน”

ด้าน นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS กล่าวเสริมว่า “เทคโนโลยี Blockchain จะช่วยทำให้ผู้ทิ้งมั่นใจว่าขยะ E-Waste จะถูกนำส่งไปยังกระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานและโปร่งใส และนอกเหนือจากนั้นยังสามารถคำนวณปริมาณ Carbon Scores ซึ่งเป็นเครื่องบ่งบอกถึงการลงมือทำในกิจกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่สามารถแชร์ในโซเชียลและแสดงตัวตนในโลก Metaverse ได้ โดย AIS ยังมีแผนพัฒนาให้ Carbon Scores ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการขยะ E-Waste อย่างถูกต้อง นำไปใช้เป็น Utility Token ที่จะช่วยต่อยอดธุรกิจให้กับองค์กรพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการนี้อีกด้วย”

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) อธิบายเพิ่มเติมว่า “ในฐานะองค์กรหลักที่มีภารกิจในการสนับสนุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้ขับเคลื่อนการทำงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย มุ่งสู่ Net Zero GHG Emission และเศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน รวมถึงการเป็นศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านก๊าซเรือนกระจก การทำงานร่วมกับ AIS ในครั้งนี้ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถเชื่อมต่อระบบการทำงานและพฤติกรรมของทุกคนให้เห็นถึงปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตประจำวันได้ มีความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูล กิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจก และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ยกระดับแพลตฟอร์ม ที่องค์กรต่างๆ สามารถเข้ามาใช้เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”