9 เดือน “เอสซีจี” กำไรลด27% รายได้ ลด8%

  • จากกำไรที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลตามวัฏจักรปิโตรเคมี 
  • สงครามการค้าที่ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกชะลอตัว 
  • ธุรกิจแพคเกจจิ้งอนาคตสดใสนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ 

                  นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจี ไตรมาสที่ 3 มีรายได้จากการขาย 110,330 ล้านบาท ลดลง 10 %จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง แต่เพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 6,204 ล้านบาท ลดลง 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 12 %จากไตรมาสก่อน 


                 ทั้งนี้สาเหตุหลักจากผลประกอบการที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์ เนื่องจากมีส่วนต่างราคาสินค้าปรับตัวลดลง การกลับรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี 1,063 ล้านบาท และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ของบริษัทร่วม สงครามการค้าที่ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เงินบาทที่แข็งค่า ประกอบกับการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี (assets impairment) 762 ล้านบาท โดยมาจากธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง 640 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจเซรามิกในต่างประเทศ ทั้งนี้ หากไม่รวมการกลับรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีดังกล่าว จะทำให้เอสซีจีมีกำไรสำหรับงวด 7,267 ล้านบาท ลดลง 23 %จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 3 %จากไตรมาสก่อน


                สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปีนี้   มีรายได้จากการขาย 331,803 ล้านบาท ลดลง8 %จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 24,910 ล้านบาท ลดลง 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ รายการสำคัญในช่วง 9 เดือนแรกของปี นี้ ประกอบด้วย ไตรมาสที่ 2 มีรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จำนวน 2,035 ล้านบาท ไตรมาสที่ 3 มีการกลับรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี จำนวน 1,063 ล้านบาท และการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีจำนวน 762 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจเซรามิกในต่างประเทศ ประกอบกับความกังวลจากสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบต่อส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ของทั้งบริษัทย่อยและบริษัทร่วม


                 โดยในไตรมาสที่ 3 เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม ( HVA) 44,450 ล้านบาท คิดเป็น 40 %ของยอดขายรวม ลดลง8 %เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 6 %จากไตรมาสก่อน ทำให้ใน 9 เดือนแรก เอสซีจีมียอดขายสินค้า HVA 137,077 ล้านบาท คิดเป็น 41 %ของยอดขายรวม ลดลง 2 %เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน


                 นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า เอสซีจีเล็งเห็นว่าธุรกิจแพคเกจจิ้งมีศักยภาพที่โดดเด่น มีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้อีกในอนาคต โดยเฉพาะในอาเซียนซึ่งมีอัตราการบริโภคและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะสำหรับบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าที่ซื้อขายผ่านช่องทาง E-commerceในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตที่สูงและมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อย่างมากและต่อเนื่องในอนาคต โดยปีท่ีผ่านมา ตลาดแพคเกจจิ้งในอาเซียนมีมูลค่า50,000 ล้านดอลลาร์
                  ดังน้ัน  เอสซีจีจึงได้อนุมัติแผนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของ SCGP ไม่เกิน30% และนำ SCGP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุนเสริมศักยภาพธุรกิจดาวรุ่ง รับโอกาสตลาดเติบโต ของทุนชำระแล้วของ SCGP ภายหลังการเพิ่มทุนและนำ SCGP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสร่วมลงทุนในธุรกิจที่มีการเติบโตในอนาคต และเพื่อให้ SCGP สามารถระดมทุนมาใช้ในการลงทุนขยายธุรกิจแพคเกจจิ้งของเอสซีจีทั้งในและต่างประเทศให้เติบโตรวมทั้งเพื่อปรับโครงสร้างทางการเงิน  ให้มีความพร้อมในการรองรับการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต 


          อีกทั้ง SCGP ยังจะสามารถระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือหาเงินทุนในรูปแบบอื่น ๆ ผ่านช่องทางของตลาดทุนได้ด้วยตัวเอง และสามารถปรับโครงสร้างการบริหารธุรกิจในอนาคตให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้การบริหารจัดการ การพัฒนา และการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตของ SCGP มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นและสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น โดยที่เอสซีจีจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และมีอำนาจควบคุม SCGP ในสัดส่วน70 และนำ SCGP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์   เพื่อระดมทุนเสริมศักยภาพธุรกิจดาวรุ่ง รับโอกาสตลาดเติบโต และ SCGP จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของเอสซีจีเช่นเดิม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้เอสซีจีได้รับประโยชน์กลับมาจากผลการดำเนินงานของ SCGP ที่มีโอกาสสร้างมูลค่าการเติบโตในอนาคตได้ดียิ่งขึ้นด้วย