“9 ธนาคารไทย” สอบผ่านธุรกิจ แต่สอบตกสิ่งแวดล้อมและสังคม

  • สอบผ่านทางธุรกิจสอบตกเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม
  • TMB มาแรงรั้งอันดับ 1

แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand)  ประเมินการทำงานของ 9 ธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2562 ใน 12 หัวข้อหลัก ปรากฏว่า ธนาคารทั้ง 9 แห่ง ได้คะแนนเฉลี่ย 21.31 คะแนน จากคะแนนเต็ม 120 คะแนน 

โดยรายงานระบุว่าการดำเนินงานของธนาคารทั้ง 9 แห่งสอบผ่านในเรื่องของธุรกิจ แต่สอบตกในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการประเมิน โดย 12 หัวข้อหลักของการประเมินประกอบด้วย  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทุจริตคอร์รัปชัน ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน ธรรมชาติ ภาษี ความเกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าอาวุธ การคุ้มครองผู้บริโภค การขยายบริการทางการเงิน การตอบแทน และความโปร่งใสและความรับผิดชอบ

ทั้งนี้การประเมินครั้งนี้เป็นการประเมินครั้งที่ 2 จากปี 2561 โดยในปี 2562 โดยในปี 2562 มีคะแนนเพิ่มขึ้นจากปี 2561 5.1% ธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธนาคารทหารไทย (22.6%) ธนาคารกสิกรไทย (20.7%) ธนาคารไทยพาณิชย์ (20.3%) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (17.2%) และ ธนาคารกรุงเทพ (17.0%)

โดยในปีนี้ ธนาคารที่ทำอันดับได้ดีขึ้นมีสองแห่งคือ TMB ที่ไต่จากอันดับ 9 มาสู่อันดับ 1 และ BBL ที่ขยับจากอันดับ 6 มาเป็นอันดับ 5 ธนาคารสี่แห่งที่มีอันดับร่วงลงจากปีแรกได้แก่ SCB TISCO KTB และ KKP (เกียรตินาคิน) ส่วนสามแบงก์ที่เหลือคือ KBank Krungsri และ TBANK (ธนชาต) ยังคงรักษาอันดับในการประเมินได้เท่าเดิมจากปีแรก

โดยเมื่อพิจารณาผลการประเมินรายหมวด ธนาคาร 9 แห่งโดยรวมมีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกหมวด หมวดที่ธนาคารได้คะแนนสูงสุด 3 หมวดแรก ยังคงเป็นหมวดเดียวกันกับผลการประเมินนโยบายปี 2561 ได้แก่ หมวดการขยายบริการทางการเงิน เพิ่ม 5.1% (คะแนนเฉลี่ยปีนี้ 54.4% จาก 49.3% ในปีก่อน) หมวดการคุ้มครองผู้บริโภค เพิ่ม 12.1% (คะแนนเฉลี่ยปีนี้ 46.8% จาก 34.7% ในปีก่อน) และหมวดการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เพิ่ม 0.9% (คะแนนเฉลี่ยปีนี้ 42.6% จาก 41.7% ในปีก่อน) นอกจากนี้หมวดที่ธนาคารส่วนใหญ่ได้คะแนนรวมโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเช่นกัน ได้แก่ หมวดอาวุธ รองลงมาคือหมวด ภาษี ค่าตอบแทน สิทธิแรงงาน และ สิทธิมนุษยชน ตามลำดับ

สำหรับหมวดที่ธนาคารได้คะแนนน้อยที่สุดและได้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า 5% มี 5 หมวด ได้แก่ หมวดธรรมชาติ เพิ่มขึ้น 1.7% (จาก 0.0% ในปีก่อน เป็น 1.7% ในปีนี้) โดยมีธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่เปิดเผยนโยบายในหมวดนี้ หมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพิ่มขึ้น 1.2% (จาก 1.2% ในปีก่อน เป็น 2.3% ในปีนี้) หมวดความเท่าเทียมทางเพศ เพิ่มขึ้น 1.3% (จาก 1.5% ในปีก่อน เป็น 2.8% ในปีนี้) หมวดสิทธิมนุษยชน เพิ่มขึ้น 0.9%  (จาก 1.7% ในปีก่อน เป็น 2.6% ในปีนี้) และหมวดค่าตอบแทน เพิ่มขึ้น 2.3% (จาก 1.8% ในปีก่อน เป็น 4.1% ในปีนี้)

 อย่างไรก็ตามในบรรดาหมวดที่ธนาคาร 9 แห่ง ยังคงได้คะแนนน้อย คือ หมวดความเท่าเทียมทางเพศ ได้คะแนนเฉลี่ยเพียง 2.8% และหมวดค่าตอบแทนได้คะแนนเฉลี่ย 4.1% สะท้อนถึงภาวะที่ธนาคารไทยโดยส่วนใหญ่ยังไม่เปิดเผยนโยบายที่ชัดเจนด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในองค์กร และมีมาตรการป้องกันและบรรเทาการเลือกปฏิบัติทางเพศต่อลูกค้าอย่างไร รวมทั้งยังไม่มีหลักเกณฑ์อื่นนอกเหนือจากการพิจารณาด้วยผลประกอบการทางธุรกิจมาใช้ในการประเมินค่าตอบแทนแก่พนักงาน เช่น การใช้เกณฑ์ความพึงพอใจของพนักงาน ความพึงพอใจของลูกค้า และการปรับปรุงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น