8 แบงก์กำไรอู้ฟู่ 1.6 แสนล้าน “SCB” นำโด่งโกย 3.7หมื่นล้าน

  • หลังปรับโครงสร้างองค์กร
  • ภายใต้ยุทธศาสตร์ยานแม่แล้วเสร็จ

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนใน ตลท.รวม 10 แห่ง ได้แจ้งผลการดำเนินงานแล้ว 8 แห่ง โดยมีกำไรสุทธิรวมในปี 2565 อยู่ที่ 159,541 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,293 ล้านบาท หรือ 2.76% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่อยู่ที่ 155,248 ล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารที่มีผลกำไรมากที่สุดในปี 2565 คือ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCB) อยู่ที่ 37,546 ล้านบาท, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) อยู่ที่ 35,770 ล้านบาท และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) อยู่ที่ 30,890 ล้านบาท ทั้งนี้ธนาคารที่ยังไม่ได้แจ้งผลการดำเนินงาน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) และธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) (KKP)

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCB) กล่าวว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิของปี 2565 จำนวน 37,546 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวที่แข็งแกร่งของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ การมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย และ การตั้งเงินสำรองที่ลดลง ถึงแม้จะมีแรงกดดันจากการลดลงของ รายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้ จากการลงทุน ทั้งนี้ในปี 2565 บริษัท เอสซีบี เอกซ์ ได้ปรับโครงสร้างองค์กรภายใต้ยุทธ ศาสตร์ยานแม่แล้วเสร็จ และพร้อมเดินหน้าก้าวสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีและสร้างการเดิบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะ 1 ถึง 2 ปีจากนี้จะมุ่งเน้นการเติบ โตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจในกลุ่มสินเชื่อดิจิทัล

สำหรับ ธุรกิจในกลุ่มเทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น จะเน้นการลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไปตามสภาวะตลาด ในส่วนของผลประกอบการในปีที่ผ่านมา บริษัทยังคงรักษาการเติบโตและความมั่นคงของสถานะการเงินได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมภายใต้ความผันผวนอย่างสูงของตลาดเงินตลาดทุน บริษัทเชื่อว่าการเติบโตของธุรกิจของกลุ่มในระยะต่อไปจะยังมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากยุทธศาสตร์ยานแม่และการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ

ด้านนางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KBANK กล่าวว่า ในปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 35,770 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจำนวน 2,283 ล้านบาท หรือ 6.00% โดยรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลง 8.42% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าธรรมเนียมรับจากการ จัดการกองทุน ค่านายหน้าการซื้อขายหลักทรัพย์ และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย ซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด ทั้งนี้ธนาคารและบริษัทย่อยจะพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss: ECL) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในระดับสูงเพื่อให้สอดคล้องกับหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง และเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ.