7 วิธีสร้าง “ภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทย”

การสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ให้กับเศรษฐกิจไทย เพื่อให้ประชาชน ภาคธุรกิจ รวมทั้งรัฐบาล สามารถผ่านภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินทางการเงินไปได้ โดยไม่ยากลำบากอย่างที่เป็นอยู่ 

หรือที่เรียกว่า มีแผน B เป็นทางออก เช่น มีรายได้จากหลายทางมากขึ้น และมีเงินสำรองเตรียมไว้ใช้จ่ายเพียงพออย่างน้อน 3-6 เดือนนั้น ถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่ หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ และภาคธุรกิจของไทย ให้ความสนใจและพยายามผลักดันมาตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง

ทั้งการเติบโตจากภายใน ลดการพึ่งพากำลังซื้อและแรงงานจากต่างประเทศเกินกว่าที่ควร หรือการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และจิตใจของคนในประเทศ รวมทั้งการพัฒนาสู่เศรษฐกิจพอเพียง กระจายฐานความเจริญสร้่างเมืองใหญ่ที่พัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นในต่างจังหวัด

ผ่านมามากกว่า 20 ปี ประเด็นการสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ทางเศรษฐกิจ ยังมีทิศทางเดียวกับ “การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่” ต่อโรคโควิด-19 ซึ่งอาจจะไปถึงสักวัน แต่ยังมีเป็นความจริง

ในโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2564 ในหัวข้อ“สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย” ซึ่งดร.เศรษฐกิจพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องเหล่านี้ที่น่าสนใจ จึงอยากนำมาสื่อสารต่อให้ได้อ่านกัน

ผู้ว่าธปท.สะท้อนมุมมองความเปราะบางของเศรษฐกิจออกมาหลายด้าน เรื่องแรกคือ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปราะบาง ไทยยังมีขีดจำกัดสูงทั้ง “การหลีกเลี่ยง รับมือ และฟื้นตัว”จากวิกฤตที่เข้ามากระทบ ขณะที่ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนบริบทโลกใหม่ ทั้งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนอย่างก้าวกระโดด สังคมสูงวัย การปรับเปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์โลก และสภาพภูมิอากาศที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ผันผวนที่สุดในโลก 

โดยมองว่าวันนี้กลุ่มเปราะบางในเศรษฐกิจและสังคมไทยยังเอาตัวไม่รอด และความแตกต่างทางความคิดในชวงที่ผ่านมาและโควิด-19 ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำของคนไทยให้สูงขึ้น โดยผลการวิเคราะห์ข้อมูลจาก World Values Survey ตั้งแต่ปี 2551เจนถึงปัจจุบันที่พบว่า ดัชนีวัดความไว้เนื้อเชื่อใจกันของคนในสังคมไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง

โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงและมีภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่ใหญ่ ทำให้กลุ่มเปราะบาง เช่น ครัวเรือนยากจน แรงงานที่เพิ่งเรียนจบ แรงงานอิสระที่ไม่ได้รับค่าจ้าง หรือได้ค่าจ้างเป็นรายวัน และธุรกิจเอสเอ็มอีมีจำนวนมาก ไม่สามารถรับมือและปรับตัวต่อวิกฤตได้

“กลุ่มเปราะบางจะมีสายป่านทางการเงินที่สั้น ไม่มีเงินออม กู้ยืมเงินได้ยาก พึ่งพาความช่วยเหลือจากญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงในยามวิกฤตไม่ได้ เพราะประสบปัญหาช่นกัน ขณะที่ไม่ได้รับการชดเชย ช่วยเหลือ และเยียวยาจากภาครัฐอย่างรวดเร็วและเพียงพอ เนื่องจากอยู่นอกระบบ ยิ่งไปกว่านี้ กลุ่มนี้จะมีข้อจำกัดด้านทักษะและเทคโนโลยี รวมถึงทางเลือกในการปรับเปลี่ยนวิถีการทำงาน เช่น ไม่สามารถทำงานจากบ้านหรือเปลี่ยนอาชีพได้ในระยะเวลาอันสั้น”

ผู้ว่าธปท.ยังระบุถึงวิธีที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเกิดภูมิคุ้มกัน และมีความทนทานและยืดหยุ่นต่อวิกฤต (resilient)  และความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคตด้วย 

ดร.เศรษฐพุฒิ ให้ความเห็นว่า  เราต้องเพิ่มขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทยในทั้ง 3 ด้านที่เราเศรษฐกิจของเรายังมีขีดจำกัดอยู่ คือ  1.เพิ่มความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากช็อกเกิดขึ้น  2. เพิ่มความสามารถในการรับมือกับผลกระทบ และ 3. เพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบซึ่งมีหนทางที่จะต้องเร่งเดินหน้า ใน 7 แนวทาง

1. ต้องดำเนินการให้มีระบบริหารความเสี่ยงภาพรวมของประเทศ (country risk management) ที่ดี ต้องมีการบูรณาการของข้อมูลและองค์ความรู้ และมีการวิเคราะห์ฉากทัศน์ (scenario analysis) ที่มีการพิจารณาถึงสถานการณ์ที่แม้มีโอกาสเกิดขึ้นต่ำ แต่สร้างความเสียหายที่สูงด้วย โดยทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมมือกันเพื่อให้ข้อมูล องค์ความรู้ และมุมมองสมบูรณ์ครบถ้วนรอบด้าน โดยภาครัฐอาจทำหน้าที่ประสานงาน หรือจัดหา platform ในการดำเนินการ

2. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้พร้อมรับความท้าทายในอนาคต เช่น การปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ resilient ต่อสถานการณ์ climate change รวมถึงความท้าทายในด้านอื่น ๆ ทั้งเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด สังคมที่สูงวัย และภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป โดยภาครัฐมีบทบาทในการออกนโยบายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจและครัวเรือนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและบริโภคไปในทิศทางที่มั่นคงและยั่งยืน

3. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและในเชิงพื้นที่เพื่อกระจายความเสี่ยงให้ดีขึ้น ลดการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งมากเกินไป และเพิ่มการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค โดยเน้นบทบาทของภาคเอกชนเป็นหลัก  ส่วนภาครัฐมีบทบาทในการชี้ทิศทางและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนในกิจกรรมและพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น

4. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ (formalization) มากขึ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ และให้แรงงานและธุรกิจต่าง ๆ สามารถได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีในยามวิกฤต โดยภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานและธุรกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบ

5. ลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเหลื่อมล้ำเชิงโอกาสในด้านต่าง ๆ ทั้งการเข้าถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐาน การศึกษา การประกอบอาชีพ การแข่งขันทางธุรกิจ และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งภาครัฐมีบทบาทสำคัญทั้งในการกำกับดูแล ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงไม่สร้างและบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมในสังคม

6. สร้างโครงข่ายความคุ้มครอง (safety nets) ในทุกระดับเพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจอยู่รอดได้ในยามวิกฤต ตั้งแต่ความสามารถในการช่วยเหลือและพึ่งพาตนเอง เครือข่ายทางสังคม เครือข่ายระหว่างผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทาน(supply chains) และระบบการเงินที่มีประสิทธิภาพ โดยเน้นบทบาทการดำเนินการของภาคเอกชนเพื่อสร้างความยั่งยืนของระบบ ส่วนความช่วยเหลือเยียวยาโดยตรงจากภาครัฐที่ก่อให้เกิดภาระทางการคลังในอนาคต และปัญหาmoral hazard ควรจำกัดอยู่ในเฉพาะสถานการณ์ที่กลไกตลาดทำงานไม่ได้

และ 7. ลดการเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจในยามวิกฤต เพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่อเจอภาวะวิกฤต เช่น สร้างสายป่านที่ยาวพอ ให้ธุรกิจดำเนินอยู่ได้และจ้างงานต่อเนื่อง ฝึกทักษะแรงงานเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนไปหลังวิกฤต สร้างกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ และกระบวนการล้มละลายที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

ซึ่งคำแนะนำทั้งหมดนี้ อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่เป็นการย้ำแนวคิดการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิมและปรับจูนให้สอดคลอ้องกับสถานการณ์ของไทยเปลี่ยนแปลงมากขึ้น และรวดขึ้น 

ทั้งนี้ การมีภูมิคุ้มกันต่อโรคได้หรือไม่ เราต้องมีวัคซีนที่จะป้องกัน มีระบบการฉีดที่ปลอดภัย และที่สำคัญคือมีคนที่สมัครใจไปฉีดมากพอ และคงพฤติกรรมไปฉีดกระตุ้นตามกำหนดเรื่อยๆ จะขาดสิ่งใดจะทำให้กระบวนการยากขึ้น

ภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจก็เช่นกัน หากคิดแต่ไม่ทำ ทำแต่ไม่ครบวงจร ปรับโครงสร้างไม่ยกขึ้นทั้งระบบ คนสนใจพูดถึงมากแต่คนที่เข้าใจ และมีภูมิจริงๆ น้อย การยกระดับเศรฐกิจไทยก็จะไม่เป็นไปตามที่คิด