7 วิธีปฎิบัติช่วง Work from Home ป้องกันโควิด

asian woman work from home with video conference app collaboration with colleagues with business chart on tablet.live streaming meeting.protect risk of being exposed to coronavirus

กรมอนามัย แนะวัยทำงาน
ปรับเปลี่ยนรูปแบบและสถานที่ในการทำงานให้เหมาะสมกับสรีระ
เพื่อป้องกัน การเกิดออฟฟิศซินโดรม

นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  สายพันธุ์โอมิครอนในช่วงปีใหม่ รัฐบาลจึงได้ประกาศให้มีมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งหรือที่บ้าน (Work Form Home) รวมถึงสถานที่ต่าง ๆ ที่ใช้ปฏิบัติงานได้ เช่น โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว ร้านกาแฟ เป็นต้น เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 ซึ่งจากการประกาศมาตรการดังกล่าว นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย มีความห่วงใย โดยขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้ 1. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลอื่น ไม่คลุกคลีกับเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เว้นระยะห่างต่อกัน หมั่นล้างมือ และถ้าจำเป็นต้องใกล้ชิดกับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 2. หมั่นสังเกตตนเอง หากมีอาการเสี่ยงให้ทดสอบเบื้องต้นด้วยชุดตรวจ ATK 3. ประเมินตนเองด้วย “ไทยเซฟไทย” หรือแอปพลิเคชันอื่น ๆ  

4. ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า 5.โต๊ะทำงานที่บ้านควรอยู่ในบริเวณที่โปร่ง โล่ง หรือจัดมุม  ไม่อยู่ใกล้กับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ควรเปิดประตูหน้าต่างเพื่อให้มีการระบายอากาศ 6. หมั่นทำความสะอาดบ้าน ที่พักอาศัย อุปกรณ์ และบริเวณที่มีผู้สัมผัสร่วมกัน เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู ห้องน้ำ ด้วยน้ำผสมผงซักฟอก หรือน้ำผสมน้ำยาฟอกขาว หรือน้ำยาทำความสะอาด ที่มีส่วนผสมของโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 0.5 เปอร์เซ็นต์ หรือแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ และ 7. แยกทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว มัดถุงให้เรียบร้อย รวมทั้งซักทำความสะอาดหน้ากากผ้าทุกวัน และตากแดดให้แห้งก่อนใช้งานทุกครั้ง

นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา

ด้าน ดร.แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโภชนาการในช่วง  Work Form Home ว่า ควรกินอาหารมีประโยชน์ครบหมู่ หลากหลาย ในสัดส่วนที่เหมาะสม เน้นกินข้าวไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ กินผักและผลไม้หลากสี ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน โดยแต่ละมื้อควรกินแค่พออิ่ม เคี้ยวอาหารช้า ๆ จะได้ย่อยง่าย  และช่วยให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ลดอาหารหวาน มัน เค็ม และการกินจุบจิบระหว่างมื้อ เลี่ยงเมนูทอดหรือแกงกะทิ ปรุงอาหารประเภท อบ ต้ม ตุ๋น นึ่ง ย่าง บริโภคผักและผลไม้รสไม่หวานจัดเป็นประจำ งดการกินอาหารมื้อดึก ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอต่อวัน  เลี่ยงเครื่องดื่มรสหวาน เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ประชาชนโดยเฉพาะวัยทำงานควรตระหนักถึงความสำคัญของภาวะอ้วนที่อาจส่งผลต่อการติดเชื้อและเพิ่มความรุนแรงของโรคโควิด-19 ได้ สำหรับผู้ที่นิยมสั่งอาหารนอกบ้านควรเลือกร้านที่ได้มาตรฐาน เน้นอาหารที่ปรุงสุกอย่างทั่วถึงหลีกเลี่ยงการกินอาหารดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ ควรถ่ายอาหารที่สั่งใส่ภาชนะของตนเอง เลี่ยงการกินจากถุง หรือกล่องที่ใส่มาจากร้าน โดยนำมาอุ่นอาหารให้ร้อนก่อนกิน และไม่กินอาหารร่วมกับคนอื่น

ด้าน นายแพทย์อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า วัยทำงานจำเป็น   ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและสถานที่ในการทำงานให้เหมาะสมกับสรีระในช่วง Work Form Home เพื่อป้องกัน การเกิดออฟฟิศซินโดรมที่จะตามมาได้ โดยให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้เหมาะสมขณะทำงานด้วย 6 วิธี ดังนี้ 1) ปรับความสูงของเก้าอี้และโต๊ะให้เหมาะสม นั่งสบาย 2) หากใช้คอมพิวเตอร์ กึ่งกลางของจอ ควรอยู่ในระดับสายตา  การพิมพ์งาน แป้นคีย์บอร์ด ควรอยู่ในระดับข้อศอก การใช้เมาส์ข้อมือควรอยู่ในแนวตรง และสามารถเคลื่อนไหวได้ แบบไม่จำกัดพื้นที่ 3) ขณะนั่งทำงาน ควรนั่งหลังตรงชิดขอบด้านในของเก้าอี้ ควรละสายตาจากคอมพิวเตอร์ทุก ๆ 1 ชั่วโมง เปลี่ยนท่าการทำงาน และยืดเหยียดกล้ามเนื้อมือและแขน ทุก 1 ชั่วโมง 4) ปลูกต้นไม้ในร่ม ช่วยดูดซับสารพิษและเป็นที่พักสายตาจากการจ้องมองจอคอมพิวเตอร์ 5) กินอาหารให้ตรงเวลา ครบ 5 หมู่ และ 6) ควรเปิดหน้าต่างที่บ้านเพื่อให้อากาศ  หมุนเวียนถ่ายเทบ้าง อย่างน้อยในตอนเช้าและพักกลางวัน