7 วันอันตราย “มอเตอร์ไซค์”ครองแชมป์เกิดอุบัติเหตุสูงสุด พบ 44% ไม่ทำประกันภัย

  • ผู้ใช้รถขอให้ทำประกันภัยตามที่กฎหมายกำหนด
  • หมั่นตรวจสอบวันหมดอายุกรมธรรม์
  • เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับความคุ้มครองอย่างทั่วถึง

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ในช่วง 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม-4 มกราคม 2566 ของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2566 (ศปถ.) พบว่าสถิติอุบัติเหตุสะสม 2,440 ครั้ง เปรียบเทียบกับปีที่แล้ว 2,707 ครั้ง ลดลง 267 ครั้ง (คิดเป็น -9.68%) จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (79 ครั้ง) รองลงมาได้แก่ จังหวัดสงขลา (75 ครั้ง) และจังหวัดเชียงราย (73 ครั้ง)

ส่วนผู้บาดเจ็บสะสม 2,437 คน เปรียบเทียบกับปีที่แล้ว (2,672 คน) ลดลง 235 คน (คิดเป็น -8.79%) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี (81 คน) รองลงมาได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (79 คน) และจังหวัดสงขลา (76 คน) และมีผู้เสียชีวิตสะสม จำนวน 317 ราย เปรียบเทียบกับปีที่แล้ว (333 ราย) ลดลง 16 ราย (คิดเป็น -4.80%) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย (15 ราย) รองลงมาได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี (13 ราย) และสุราษฎร์ธานี (11 ราย)

สำหรับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้านการประกันภัย สำนักงาน คปภ. ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. ภาค 1-9 ณ วันที่ 5 มกราคม 2566 มีการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นและค่าสินไหมทดแทน ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. 2565-4 ม.ค. 2566 รวม 136 ราย เปรียบเทียบกับปีที่แล้ว 163 ราย ลดลง 27 ราย (ลดลงร้อยละ 16.56) จำนวนเงิน 7,886,676 บาท เปรียบเทียบกับปีที่แล้ว 6,037,281 บาท เพิ่มขึ้น 1,849,395 บาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.63) จึงได้สั่งการให้บริษัทประกันภัยเร่งประเมินความเสียหายและจ่ายค่าสินไหมทดแทนด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน

นอกจากนี้ยังพบว่า มีรถจักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ร้อยละ 82.11 และในจำนวนรถจักรยานยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุมีร้อยละ 44 ที่ไม่ได้ทำประกันภัย พ.ร.บ. จากตัวเลขเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่ายังมีรถที่อยู่นอกระบบการประกันภัย พ.ร.บ. อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีเจ้าของรถจำนวนมากที่ยังขาดความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการมีประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อนำไปเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัย หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นจากการใช้รถใช้ถนน

ทั้งนี้ เจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถทุกคัน มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องจัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. หากฝ่าฝืนไม่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท หรือหากเป็นผู้ที่ใช้รถที่ไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ดังนั้น หากเป็นทั้งเจ้าของรถที่ไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. และได้นำรถคันนั้นออกไปใช้เอง จะมีความผิดทั้ง 2 ข้อหา โดยมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

“แม้ว่าการทำประกันภัยไม่สามารถป้องกันอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่การทำประกันภัยจะเป็นเครื่องมือที่ใช้บริหารความเสี่ยงภัย หากเกิดอุบัติเหตุแล้ว การประกันภัยจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ และฝากเตือนถึงเจ้าของรถรวมถึงผู้ใช้รถขอให้ทำประกันภัยตามที่กฎหมายกำหนด และหมั่นตรวจสอบวันหมดอายุกรมธรรม์ด้วย เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับความคุ้มครองอย่างทั่วถึงและครบวงจร และถ้ามีกำลังซื้อ ขอให้ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจเพิ่มเติม เพื่อจะได้รับความคุ้มครองที่มากขึ้น”

อย่างไรก็ดี จากการที่สำนักงาน คปภ. ได้รณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ส่งผลทำให้การเกิดอุบัติเหตุปีนี้ลดลง จึงขอขอบคุณภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มา ณ โอกาสนี้