7 คำถามกับแบงก์ชาติ Retail CBDC/PromptPay/Cryptocurrency ต่างกันอย่างไร

กระแสของสกุลเงินดิจิทัลมาแรงมากๆ ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และยังแรงไม่ตกจนถึงขณะนี้ 

โดยเฉพาะเมื่อมีนักวิเคราะห์ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ผลจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ระบบการเงิน และการชำระเงินของรัสเซีย จากสงครามยูเครน อาจจะเป็นอีกช่องทางที่ทำให้ “นักธุรกิจ” ทั่วโลก เห็นความสำคัญของ“cryptocurrency คริปโตเคอเรนซี” ในฐานะทางเลือกของ “การแลกเปลี่ยนที่เสรี” ในสถานการณ์วิกฤตมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแส cryptocurrency สกุลต่าง ซึ่งมีทั้งข้อดี และข้อเสียในการนำมาใช้ โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือของสกุลเงิน ปัญหาภัยจากโลกไซเบอร์ และความผันผวนของ cryptocurrency ที่สูงมากในแต่ละช่วงเวลา

ธนาคารกลางทั่วโลกได้พยายามที่จะสร้างเงินสกุลดิจิทัลของตัวเอง มาใช้ควบคู่กับเงินหลักที่เป็นกระดาษ และเหรียญกปาษณ์ เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ๆ ในการต่อยอดและสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ ในต้นทุนที่ถูกลง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีแผนทดลองออกสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองเพื่อทดสอบการใช้ในระดับประชาชนหรือที่เรียกว่า retail CBDC  (retail central bank digital currency)  ออกมาเช่นกัน

แต่ retail CBDC ของ ธปท. หรือแบงก์ชาติ มีความเหมือนหรือต่างจาก cryptocurrency อย่างไร และมีความจำเป็นหรือไม่ เมื่อเรามีระบบการโอนเงิน PromptPay ที่เราสามารถใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งใช้การสแกนหรือโอนจ่าย โดยไม่ต้องถือเงินสดอยู่แล้ว 

มาหาคำตอบที่ชัดเจนขึ้น ผ่านคำถาม 7 ข้อ ของแบงก์ชาติกัน

คำถามที่ 1 : Retail CBDC คืออะไร

retail CBDC หรือ เงินบาทดิจิทัล คือ “เงินบาท” ปกติที่เราสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่ที่เปลี่ยนรูปแบบจากธนบัตรมาเป็นรูปแบบดิจิทัล ซึ่งเงินบาทดิจิทัลนี้  ออกและได้รับการรับรองมูลค่าโดยธนาคารกลาง เช่นเดียวกับ “เงินบาทที่เป็นกระดาษ “ โดยเบื้องต้นจะมีมูลค่า 1 บาทต่อ 1 บาทดิจิทัล

ทั้งนี้ ธปท.ให้ความสนใจศึกษาาretail CBDC ในมิติที่ว่าจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเงินในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. ได้ง่ายกว่า เงินดิจิทัลประเภทอื่นๆ และนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นโครงสร้างพื้นฐานระบบชำระเงินใหม่ที่เข้าถึงง่าย มีความปลอดภัยสูง 

และที่สำคัญสามารถรองรับการนำเทคโนโลยีใหม่มาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นระบบการชำระเงินรายย่อยที่เอื้อให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึง เชื่อมต่อ และต่อยอดพัฒนาบริการทางการเงินใหม่ ๆ ได้ในอนาคต โดยมีต้นทุนการชำระเงิน หรือโอนเงินที่ถูกลง โดยปัจจุบันมีบางประเทศที่ออกใช้แล้วคือ ประเทศในแถบหมู่เกาะแคริบเบียนบาฮามาส และไนจีเรีย

คำถามที่ 2 : Retail CBDC แตกต่างอย่างไรกับระบบการโอนเงิน PromptPay ในปัจจุบัน

ปัจจุบันเรามี PromptPay เป็น “ระบบ” โครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน ใช้โอนเงินที่ประชาชนมีในบัญชีธนาคารผ่านระบบออนไลน์ โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือเลขประจำตัวประชาชนแทนเลขบัญชี โอนได้สะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม ให้บริการโดยธนาคารที่ประชาชนนำเงินไปฝากไว้ 

ขณะที่ retail CBDC เป็นทั้ง “เงินสดในรูปดิจิทัล” และ “ระบบ” ช่องทางการชำระเงินสำหรับประชาชน ซึ่งออกและกำกับดูแลโดย ธปท.โดยอาจจะไม่ต้องผ่านระบบการโอนเงินของธนาคารพาณิชย์ 

retail CBDC ยังมีความแตกต่างจาก PromptPay เพราะความสามารถในการเขียนเงื่อนไขลงบนเงิน(programmable money) ให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ แตกต่างจาก PromptPay ที่เน้นการโอนเงินและชำระเงิน

เช่น กำหนดเงื่อนไขผู้รับเงิน กำหนดหน้าที่ หรือวัตถุประสงของเงินได้ ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีใหม่มาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบการชำระเงินในยุคดิจิทัล 

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหาก retail CBDC มีการออกใช้จริง จะเป็นเสมือนอีกทางเลือกหนึ่งให้กับประชาชนได้เลือกใช้ควบคู่ไปโดยไม่ต้องทิ้งระบบ PromptPay ที่ใช้ในปัจจุบัน 

คำถามที่ 3 : สามารถนำ Retail CBDC มาซื้อขายเพื่อเก็งกำไรเหมือน Cryptocurrency เช่น Bitcoin ได้หรือไม่

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า cryptocurrency คือ สกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน โดยจะใช้เทคนิคการเข้ารหัส (cryptography) ในการป้องกัน และยืนยันธุรกรรมผ่านระบบที่เรียกว่าblockchain แต่เนื่องจาก cryptocurrency เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชนที่ส่วนใหญ่ไม่มีสินทรัพย์ใด ๆมาหนุนหลัง จึงทำให้มูลค่ามีความผันผวนสูงตามความต้องการซื้อขายของนักลงทุน 

cryptocurrency แตกต่างอย่างมากจาก retail CBDC ซึ่งเป็นเงินบาทในรูปดิจิทัล ที่มีมูลค่าคงที่คือ 1 CBDC = 1 บาท และไม่สามารถนำมาซื้อขายเพื่อเก็งกำไรได้

ทั้งนี้ retail CBDC มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อไว้รองรับการใช้จ่ายของประชาชนที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบออนไลน์มากขึ้นไม่ใช่เพื่อการลงทุน และขอย้ำว่า CBDC ไม่ใช่ cryptocurrency

คำถามที่ 4 : Retail CBDC PromptPay และ Cryptocurrency ใช้เทคโนโลยีเดียวกันหรือไม่

ในขณะที่ cryptocurrency ใช้เทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) เป็นเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ให้สมาชิกในเครือข่ายสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล และทำธุรกรรมระหว่างกันได้โดยตรงโดยไม่ผ่านตัวกลาง 

retail CBDC อาจจะใช้หรือไม่ใช้ DLT   ในการสร้างและประมวลผลก็ได้  (retail CBDC ของจีนไม่ได้ใช้ DLT ในการสร้างและประมวลผลรองรับการทำธุรกรรม) ส่วน PromptPay ไม่ได้ใช้ DLT นอกจากนั้น retail CBDC และPromptPay จะต้องมีการทำกระบวนการทำความรู้จักลูกค้า (Know Your Customer: KYC) เพื่อป้องกันการใช้งานที่ไม่พึงประสงค์หรือการฟอกเงิน ขณะที่ cryptocurrency ทั่วไปอาจไม่ต้องทำ KYC

คำถามที่ 5 : กำไรจากการซื้อขายแลกเปลี่ยน Cryptocurrency จะถูกเรียกเก็บภาษี  Retail CBDC จะถูกเก็บภาษีด้วยหรือไม่

retail CBDC เป็นเงินบาทที่เปลี่ยนรูปแบบจากธนบัตรมาเป็นรูปแบบดิจิทัลที่มีวัตถุประสงค์ออกมาเพื่อใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ จะไม่ถูกเก็บภาษีกำไรเหมือนกับ cryptocurrency ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน

คำถามที่ 6 : การที่ ธปท. เป็นผู้ออก Retail CBDC จะทำให้ ธปท. ทราบข้อมูลการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของประชาชนหรือไม่

สำหรับคำถามข้อนี้ ธปท. ตอบว่า การออก retail CBDC  นั้นได้ คำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานเป็นหลัก จึงได้ออกแบบระบบไม่ให้เห็นข้อมูลส่วนบุคคลและไม่สามารถนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในการทั่วไปได้ อย่างไรก็ตามธปท. จะเห็นข้อมูลการทำธุรกรรมในภาพรวม และมีกลไกบางอย่างเพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมที่ต้องสงสัยหรือธุรกรรมที่ผิดกฎหมายได้

คำถามที่ 7 : ธปท.จะเริ่มทดลอง Retail CBDC เมื่อไร และขั้นตอนเป็นอย่างไร คนทั่วไปใช้ได้หรือไม่

ธปท. มีแผนจะเริ่มทดสอบการใช้งาน retail CBDC ภายในวงจำกัดสำหรับพนักงาน ธปท. ในเดือนก.ย.ที่จะนี้ ก่อนที่จะเริ่มขยายการทดสอบไปสู่บุคคลภายนอกบางกลุ่มในสิ้นปี 2565 เพื่อประเมินผลการทดสอบการใช้งานในเบื้องต้น

โดยการทดลองใช้งาน retail CBDC จะมี 2 รูปแบบ คือ ใช้งานผ่านบัตรและแอปพลิเคชัน ขณะที่การทดลองใช้งานกับบุคคลภายนอก จะทดลองในรูปแบบแอปพลิเคชันเท่านั้น

“ขณะนี้ ธปท. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาการออกใช้ retail CBDC ในวงกว้าง เนื่องจากจำเป็นต้องประเมินผลลัพธ์และความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ จากการทดสอบอย่างรอบคอบว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ภาคธุรกิจ และประเทศในภาพรวม”

ทั้งหมดนี้น่าจะช่วยให้คนไทยเข้าไทยความแตกต่างของ Retail CBDC/PromptPay/Cryptocurrency ได้มากขึ้น!