- รับผลกระทบสงครามการค้ายืดเยื้อ-บาทแข็งไม่เลิก
- ยอมรับเป้าหมายทั้งปีเป็นไปได้ยากแต่จะลุยเต็มที่
- แต่ยังมีช่องผลักดันใช้สิทธิส่งออกไปจีน-สหรัฐฯได้อีก
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) ในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 62 ว่า มีมูลค่า 42,129.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ 77.33% ลดลง 1.05% โดยเป็นมูลค่าการใช้สิทธิเอฟทีเอ 12 ฉบับ 39,079.39 ล้านเหรียญฯ คิดเป็น 78.25% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้สิทธิเอฟทีเอ 49,944 ล้านเหรียญฯ ลดลง 2.32% และการใช้สิทธิจีเอสพี 4 ระบบ คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ 3,050.30 ล้านเหรียญฯ คิดเป็น 67.27% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้สิทธิจีเอสพี 4,534.24 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 18.61%
สำหรับมูลค่าการใช้สิทธิเอฟทีเอ ที่ลดลง 2.32% นั้น การลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและเงินบาทแข็งค่า ทำให้การส่งออกไปตลาดสำคัญ คือ อาเซียน ออสเตรเลีย ชิลี เกาหลีใต้ ลดลง จึงมีการใช้สิทธิประโยชน์ลดลงตาม แต่เมื่อดูตลาดที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก อาเซียนยังคงเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย ส่วนการใช้สิทธิจีเอสพี พบว่า สหรัฐฯ ยังคงมีมูลค่าการใช้สิทธิมากสุดที่ 2,799.76 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 12.96% รองลงมา คือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิอยู่ที่ 155.02 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 5.36% ตามด้วย รัสเซีย 80.67 ล้านเหรียญฯ ลดลง 9.86%
นายอดุลย์ กล่าวว่า กรมตั้งเป้าหมายการส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์ ทั้งจากเอฟทีเอ และจีเอสพี ปีนี้ไว้ที่ 81,025 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 9% ซึ่งท้าทายมากในการที่จะบรรลุเป้าหมาย เพราะยังมีปัจจัยลบ โดยเฉพาะสงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อ และค่าเงินบาทแข็งค่า แต่กรมจะเดินหน้าผลักดันให้ใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะผลักดันการใช้สิทธิไปยังตลาดที่ยังใช้สิทธิ์น้อย หรือตลาดที่มีโอกาสจากสงครามการค้า เช่น ใช้สิทธิเอฟทีเอส่งออกไปจีน เพื่อทดแทนสินค้าจากสหรัฐฯในตลาดจีน หรือใช้สิทธิจีเอสพีส่งออกไปสหรัฐฯ เพื่อทดแทนสินค้าจีน