7สมาคมเหล็กยื่นข้อเสนอภาครัฐหาทางแก้ปมราคาแพง

  • ผู้ใช้ต้องแจ้งผู้ผลิตต้องการเท่าไร
  • ผู้ผลิตต้องการให้ปรับค่าเคโครงการรัฐ
  • ชี้เศรษฐกิจโลกฟื้นความต้องการใช้เพิ่ม

นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ อุปนายกสมาคมโลหะไทย เปิดเผยว่าที่ประชุมของ 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย อาทิสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย ได้ข้อสรุปเพื่อเสนอให้ภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาสินค้าเหล็กในประเทศที่มีราคาสูง ในขณะนี้ว่า ภาครัฐและเอกชนต้องสร้างความร่วมมือกัน โดยผู้ใช้เหล็กต้องวางแผนการใช้เหล็ก แจ้งผู้ผลิตเหล็กให้ทราบล่วงหน้า เพื่อสามารถจัดซื้อวัตถุดิบและวางแผนการผลิตได้ทันเวลา และสามารถทราบถึงต้นทุนที่แน่นอนก่อนรับงานโครงการต่างๆได้, กลุ่มผู้ผลิตเหล็กในประเทศจะรายงานข้อมูลการผลิต และราคาต่อสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อมูลความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ

นอกจากนี้ผู้ผลิตเหล็กต้องการ ให้ภาครัฐพิจารณาปรับค่าตัวเลขดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของค่างาน (ค่า K) ของงานโครงการภาครัฐ เพื่อให้สามารถครอบคลุม และหรือเยียวยาผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้รับเหมาโครงการ, ขอให้ภาครัฐสนับสนุนการให้เกิดการใช้วัตถุดิบในการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเศษเหล็ก ที่ปัจจุบันมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ส่งผลให้เกิดการนำเข้าจากต่างประเทศ และมีราคาที่สูงกว่าในประเทศเนื่องจากต้องเสียค่าขนส่งระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ค่าขนส่งปรับเพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาตู้บรรจุสินค้า (Container) ขาดแคลน และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันผู้ผลิตยังต้องการให้ภาครัฐ ผลักดันนโยบายอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 ร่วมกับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมเหล็ก และตอบสนองต่อนโยบาย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ของกระทรวงอุตสาหกรรม

นายกวินพัฒน์ นิธิเตชเศรษฐ์ นายกสมาคมผู้ผลิตท่อและแปรรูปเหล็กแผ่น กล่วว่า กรณีที่ราคาสินค้าเหล็กทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยมีการปรับตัวสูงขึ้น เป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวทำให้ ความต้องการใช้เหล็กของโลกปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงประเทศจีนมีการลดการผลิตในประเทศจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการมีนโยบายการลดการผลิต เพื่อการส่งออกโดยการยกเลิกการคืนภาษีส่งออก (VAT. Rebate) 9-13% สำหรับสินค้าเหล็กบางรายการ ตั้งแต่ 1 พ.ค.นี้ ทำให้ผู้ส่งออกจีนต้องปรับราคาขึ้นชดเชยกับการยกเลิกการคืนภาษีดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนต้นทุน และราคาขายของประเทศจีนด้วย