6 อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ รุมสับนโยบายรัฐบาล บริหารงานใช้จ่ายเงินไร้เป้าหมายชัดเจน

  • รัฐบาลได้ทำให้คนเชื่อว่าประชานิยมเป็นเรื่องธรรมดา
  • ขาดดุลการคลังยาวนาน-หนี้สินสูงขึ้นเรื่อยๆ
  • ธปท.เป็นอิสระ ไม่ทำตัวเหนือคลัง ต้องกล้าเข้าไปแก้ไขปัญหาที่บิดเบือน

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดงานเสวนา “เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.” ในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธปท.โดยมี 6 อดีตผู้ว่าการ ธปท.ร่วมเสวนา ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจในปัจจุบันและสภาพแวดล้อมที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต ประกอบด้วย นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสด์ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล นางธาริษา วัฒนเกส นายประสาร  ไตรรัตน์วรกุล  และ นายวิรไท สันติประภพ

 ทั้งนี้ ในส่วนของความคิดเห็นถึงการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ การดำเนินนโยบายการเงินการคลัง และการดำเนินการของธปท. นายชัยวัฒน์ กล่าวให้ความเห็นว่า นโยบายการคลังในขณะนี้เป็นจุดที่ผมมีความเป็นห่วงมาก เพราะหากเรามองอย่างเป็น กลางภาครัฐในขณะนี้อยู่ในฐานะที่น่าเป็นห่วง เพราะเราขาดดุลติดต่อกันมานานเหลือเกิน และภาระหนี้ก็สูงขึ้นๆ เรื่อยๆ และแม้ว่าวันนี้เราไม่ต้องใช้นโยบายอนุรักษ์นิยมเท่าเดิม และตอนนี้ไม่ใช่การขาดดุลคู่ เพราะดุลบัญชีเดินสะพัดของเรายังเป็นบวก และมีเงินออมส่วนรวม แต่ปัญหาคือ รัฐบาลได้ทำให้คนเชื่อว่าประชานิยมเป็นเรื่องธรรมดา มีอะไรก็ใช้จ่ายออกไป และจริงๆ ฐานะการคลังในตอนนี้ยังซ่อนปัญหาระยะยาวไว้มาก  เมื่อไรการคลังไม่สามารถดูแลตัวเองให้ดีกว่านี้ ภาระจะตกมาที่นโยบายการเงิน 

 “ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิก็พูดกับผมเสมอก็คือ หลายเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ต้นเหตุอยู่ที่ภาคเศรษฐกิจจริง แต่มาโผล่ที่ระบบการเงิน การเงินไม่มีเสถียรภาพ เราอยู่ปลายเหตุแต่จะต้องรับภาระแก้ปัญหา ซึ่งธปท.ก็ต้องพยายามออกแรงเหมือนในอดีต ผู้ว่าฯต้องพูดคุยกับรัฐบาล ซึ่งส่วนมากเขาจะไม่ค่อยฟัง และหากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเมืองมาเลือกตั้งผมคิดว่าเราจะเหนื่อยมาก แต่ก็ต้องพยายามทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด และผมคิดว่าหากเมื่อไรมีความจำเป็นชัดเจนว่าเราจะต้องทำนโยบายที่ยาก นโยบายที่เข้มงวดที่คนอื่นเขาไม่ชอบ แต่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ผมคิดว่าเราก็ใจแข็งที่จะทำเพราะถ้าไม่มีเราเป็นด่านสุดท้ายเราก็ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะตกเหวไปอยู่ที่ไหน”

 ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร  กล่าวเพิ่มเติมว่าในมุมมองของผมนโยบายการคลัง มันเหมือนไม่มีนโยบาย รัฐบาลใช้เงินไปเรื่อยๆ เห็นประกาศใหม่ๆ ออกมาเป็นการใช้เงินไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าจะขาดดุลไปแค่ไหน ประเทศชาติตอนนนี้ต้องเน้นการมีนโยบายการเงินที่จริงจัง นโยบายการเงินของเราก็เดินไปตามการดำเนินนโยบายตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อต่อไป แต่ผมมองว่าจะต้องเข้าไปช่วยกระตุ้นหรือเอื้อให้เกิดการขยายตัวเศรษฐกิจพอสมควร เพราะถ้าไม่มีการขยายตัว ภาษีที่จะเก็บได้ก็จะไม่มี ตอนนี้คนที่ควรจะดำเนินนโยบายการคลังไม่ทำในสิ่งที่ควรจะต้องดำเนิน ถ้าคลังดำเนินนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินสนับสนุนก็จะหมดปัญหาไปได้ ต้องอยู่ที่ผู้นำรัฐบาลจะคิดหรือไม่คิด 

 “ส่วนความเป็นอิสระของธปท.นั้น จะต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องคำนึงว่าจะต้องเป็นที่พอใจของผู้มีอำนาจและนักการเมือง แต่ไม่ได้หมายความว่าทำตัวเป็นอิสระโดยไม่ฟังใคร ต้องฟังความเห็นจากหน่วยงานต่างๆอื่นๆ นโยบายการเงินต้องประสานกับนโยบายการคลังเพื่อให้เกิดผลดีที่สุดต่อเศรษฐกิจ ผู้ว่าธปท.จะต้องประสานงานได้กับรมว.คลัง ให้เข้าใจเป็นอย่างดี แต่ไม่ควรทำตัวเหนือกระทรวงคลัง แต่ไม่ใช่ทำตามเขาหมด แต่ต้องฟังเขาให้เข้าใจและหาทางที่ดีที่สุดแก่ประเทศชาติ และต้องถือว่าธนาคารพาณิชย์เป็นลูกๆ ไม่ใช่ศัตรู ถ้าผิดก็ลงโทษเพื่อให้ดีขึ้น แต่ไม่ใช่ทำลายเพราะธนาคารพาณิชย์เป็นกำลังสำคัญของประเทศ”

 ด้านนายประสาร   กล่าวว่า มาถึงจุดนี้ ตัวปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้อาจจะไม่ใช่แค่นโยบายบายการเงิน และการคลัง หรือเศรษฐกิจจริงเท่านั้น แต่เป็นเรื่องระบบการบริหารจัดการของประเทศ ธรรมภิบาลของประเทศ เป็นเรื่องของระบบยุติธรรม ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยเห็นว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ ทำให้การปรุงปรุงระบบ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยทำไม่ได้จริง จึงเป็นเรื่องที่กว้างกว่าและ เป็นสิ่งที่ต้องการการคิดใหม่ทั้งหมด ต้องการการปรับโครงสร้างทั้งระบบเศรษฐกิจและการเมือง

 ขณะที่ความคิดเห็นของ ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า ในการร่าง พ.ร.บ.ธปท.ในช่วงที่ผมทำนั้น ในช่วงแรกเรามองถึงความเป็นอิสระ คือผู้ว่าธปท.มีอิสระเลย แต่ทางรัฐบาลมองว่าธปท.ก็เป็นส่วนหนึ่งของราชการ จะเป็นอิสระทั้งหมดไม่ได้ และสุดท้ายปรับเป็นว่า หาก รมว.คลังจะให้ผู้ว่าการ ธปท.ออกต้องให้เหตุผลก็แล้วกัน ซึ่งก็ทำให้การปลดผู้่ว่าธปท.ยากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ก็ถือว่าดี เพราะทุกเรื่องเป็นเจตนาดีของทุกคน เช่นเดียวกับการกำหนดกรอบนโยบายการเงิน ซึ่งหลักๆ เป็นหน้าที่ของธปท. แต่กฎหมายก็กำหนดให้ต้องส่งเป้าหมายในคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติทุกปี

 “ทั้งหมดนี้ การทำงานในโลกมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ ระหว่างผู้ว่าธปท.กับรมว.คลัง หรือนายกรัฐมนตรี ใครชนะใจประชาชน คนนั้นชนะ กฎหมายของเราก็ออกมาเป็นลูกครึ่งแบบนี้ แต่การบริหารงานของธปท.ก็ถือว่าดี ออกมาเป็นครึ่งทางระหว่างธปท.กับรัฐบาล ไม่เป็นอิสระเลย แต่ก็ถือเป็นอิสระระดับหนึ่ง ธปท.มีหน้าที่ดูเสถียรภาพ รัฐบาลมีหน้าที่ลงทุน เอกชนมีหน้าที่ค้าขาย รัฐบาลลงทุนมาก ธปท.ก็ติงได้ เพราะเป็นรูปคณะกรรมการหารือกันได้”

 ขณะที่นางธาริษา   กล่าวว่า บทบาทที่ธปท.จะต้องทำในระยะต่อไปนั้น โดยหลักแล้วคือการดูแลนโยบายการเงิน และดูแลเรื่องเสถียรภาพของระบบการเงิน แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การพัฒนาความอยู่ดีกินดีของประชาชนมากที่สุด ดังนั้น ธปท.จะต้องเป็นตัวช่วยให้เครื่องจักรของเศรษฐกิจสามารถทำงานได้อย่างปกติ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่เกิดขึ้น รวมทั้งอาจจะต้องช่วยดูแลในเรื่องการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และความเหลื่อมล้ำของประเทศ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในการทำธุรกิจจากเทคโนโลยี โลกดิจิทัล และ ESG นอกจากนั้นยังต้องมองไปข้างหน้าเพื่อหาทางรับมือการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ และดูแลความเสี่ยงต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

 ด้านนายวิรไท  กล่าวว่า “ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ และติดดิน” ยังเป็นหลักของคนของธปท. โดยมองว่า สำหรับยืนตรง คนธปท.จำเป็นต้องกล้าเข้าไปแก้ไขปัญหาที่ิบิดเบือนในฐานะผู้กำกับดูแล รวมทั้งการหลอกลวงทางการเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชน หรือในวิกฤตเศรษฐกิจ หากเราต้องทำอะไรในช่วงนั้นที่อาจจะไมใช่หน้าที่โดยตรงของธปท. แต่อาจจะต้องไปทำ เช่น การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน หรือการเข้าไปให้ความรู้ทางการเงินกับประชาชน ขณะเดียวกันที่สำคัญที่สุด คือ ธปท.ยังคงต้องคงความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะน่าเชื่อถือขึ้นกับผลงานของเราที่จะยื่นมือไปช่วยแก้ปัญหาประชาชน ติดดินคือ ต้องช่วยแก้ไขปัญหาให้คนทุกระดับ