5 ข้อก่อนตัดสินใจลงทุน รู้ได้อย่างไรว่าเป็น “แชร์ลูกโซ่”

ช่วงนี้ “แชร์ลูกโซ่” ระบาดหนัก โดยหลายคนตั้งขอสังเกตว่า มักจะมาในช่วงที่เศรษฐกิจ ไม่ค่อยดี ผลตอบแทนการลงทุนต่ำ คนมีรายได้ไม่พอใช้จ่่าย และบางครั้ง “แชร์ลูกโซ่” จะแอบแฝงมากับธุรกิจขายตรง หรือการชักชวนลงทุนโดยคนใกล้ชิด (ที่อาจจะถูกหลอกมาอีกที)

มิจฉาชีพจะโฆษณาชวนเชื่อให้ลงทุนในสินทรัพย์ หรือทำธุรกิจขายตรงที่มีผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง ถึงสูงมาก โดยที่เราไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องติดตามการทำธุรกิจ หรือขายสินค้าใดๆ ทั้งสิ้น

โดยครั้งแรกอาจจะให้เราเข้าร่วมฟังสัมมนา และจ่ายค่าสมัครสมาชิก เพื่อให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่ระบุไว้ หรือให้ซื้อสินค้าแรกเข้าในมูลค่าที่ค่อนข้างสูง (สินค้าส่วนมากมักไม่มีคุณภาพ) หรืออาจให้ซื้อแค่หุ้นหรือหน่วยลงทุนโดยไม่ต้องรับสินค้าไปขายเลยก็ได้ รับรับเงินกำไรอย่างเดียว 

แต่ที่น่าสนใจ จะพยายามให้เราชักชวนเพื่อนหรือญาติพี่น้องให้ร่วมทำธุรกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

หากออกมาในรูปแบบและลักษณะทำนองนี้ ให้เชื่อไว้ก่อนเลยว่า เข้าข่ายจะเป็น “แชร์ลูกโซ่”

แต่หากยังไม่เชื่อสนิทใจ ลองตั้งข้อสังเกต 5 ข้อนี้ดู…หากเข้าข่ายเกินกว่า 3 ข้อ เชื่อขนมกินได้เลยว่า “คุณกำลังจะโดนหลอก”

ข้อที่ 1. “แชร์ลูกโซ่”ในคราบธุรกิจขายตรงจะไม่เน้นการขายสินค้า

ไม่ว่าจะเป็นการขาย การสาธิตสินค้า หรือทำให้สมาชิกเข้าใจในตัวสินค้าจะไม่มีเรื่องเหล่านี้ให้เห็น แต่จะเน้นการหาสมาชิกใหม่เพราะค่าสมัครสมาชิก/ ค่าซื้อสินค้าแรกเข้า หรือค่าหุ้นหรือหน่วยลงทุนของรายใหม่ จะถูกนำมาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้กับสมาชิกเก่า ดังนั้น หากไม่สามารถหาสมาชิกใหม่ได้ ก็จะไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนให้แก่สมาชิกเก่าได้

และอย่าคิดเชียวว่า ถ้าคุณจะสามารถเข้าก่อนออกเร็ว จะเอาตัวรอด หรือคืดทำกำไรจากพวกนี้ได้ เพราะคุณไม่มีทางรู้เลยว่า คุณเป็นคนที่เท่าไรที่กำลังถูกหลอกลวง

ข้อที่ 2 อย่าเชื่อในผลตอบแทนที่สูงจนไม่น่าเชื่อ

เพราะไม่มีธุรกิจใด ที่ทำกำไรได้สูงขนาดนั้น ในเวลาอันสั้น  เพราะแม้แต่ธุรกิจที่มีความยั่งยืน มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งยังทำกำไรได้ไม่เกิน 10-20% ต่อปีเท่านั้น ยิ่งประเภทเอาเงินไปทำอะไรไม่รู้ได้ แค่เดือนเดียวได้ผลตอบแทน 50% หรือ 90%อย่างที่เป็นข่าวนั้น ไม่มีทางเป็นไปได้

ข้อที่ 3 หลอกล่อด้วย “ความร่ำรวย” เพื่อเร่งให้ตัดสินใจลงทุน

แชร์ลูกโซ่ ส่วนใหญ่จะไม่ยอมให้เหยื่อมีเวลาตรวจสอบเงื่อนไข หรือฐานะบริษัทอย่างชัดเจน แต่มิจฉาชีพจะเร่งให้เราตัดสินใจลงทุน โดยเอาผลตอบแทนมาล่อ เช่น อาจจะโชว์ กองเงินเป็นตั้ง โชว์นับแบงก์ หรือ โชว์ความร่ำรวย บ้านใหญ่ รถหรูป้ายแดง มาล่อเพื่อเราเกิดความโลภ เร่งการตัดสินใจลงทุนโดยไม่ทันคิดหน้าคิดหลัง รวมทั้งอย่าไว้ใจ หรือเกรงใจจนไม่กล้าปฏิเสธเมื่อคนชวนทำธุรกิจ

ข้อที่ 4 บอกว่าเป็นการลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยงขาดทุน

หรือ หากมีความเสี่ยงจริงก็ต่ำมาก และไม่มีใครเคยขาดทุนจากธุรกิจนี้มาก่อน ขอให้จำวลี ลงทุนสูงเสี่ยงสูง หรือ “High Risk, High Return” เอาไว้ให้ดี ไม่มีการลงทุนไม่มีความเสี่ยง ยิ่งได้ผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงต้องสูงตาม ถ้าบริษัทไหนมาชวนลงทุน และบอกว่าไม่เสี่ยง มีแต่ได้กำไรทุกประตู ในโลกนี้ไม่มีจริง

ข้อที่ 5 ที่มาที่ไปไม่ชัดเจน

สิ่งที่แชร์ลูกโซ่เป็นเหมือนกันหมดก็คือ ‘ตรวจสอบไม่ได้’  มีใบอนุญาตการทำธุรกิจในประเทศไทยหรือไม่ ก็ตรวจสอบไม่ได้ มีการจดทะเบียนบริษัทหรือได้รับอนุญาตให้ระดมทุนจากประชาชนหรือไม่ 0tไม่มีการนำใบอนุญาตมาโชว์ให้ดู ไม่มีงบการเงิน มักอ้างแต่ว่า มีบริษัทแม่ในต่างประเทศแบกอัพ  ขายสินค้าไปที่ไหนก็ไม่ระบุชัดเจน ส่วนใหญ่จะอ้างว่าส่งไปนอก หรือไปลงทุนในต่างประเทศ ยิ่งหากถามเจ้าของตัวจริงเป็นใคร ใครเป็นผู้ที่หุ้น กรรมการมีใครบ้าง จะไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน 

สรุปได้ว่า บริษัทเหล่านี้เกิดมาเพื่อ “วัตถุประสงค์ไม่ดี” แน่นอน อย่าเกี่ยวข้องเป็นดีที่สุด