4 ประเภทอาหาร ทางเลือกช่วยเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ

No smoking concept, closeup of clenched fist pounding cigarettes, no smoking
  • รมอนามัย แนะประเภทอาหาร
  • เลือกกินอาหารที่ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้
  • ควรเลี่ยง อาหารกระตุ้นความอยากบุหรี่

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สําคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคถุงลมโป่งพอง และเป็นสาเหตุสําคัญของโรคมะเร็งปอด ผู้ที่อยากเลิกบุหรี่ จึงต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาจใช้การบำบัดทางการแพทย์ร่วมกับการเลือกกินอาหารที่มีส่วนช่วยให้การเลิกบุหรี่ประสบความสำเร็จได้ มี 4 ประเภท ดังนี้ 1) ผักและผลไม้  อุดมด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชดเชยปริมาณวิตามินซีที่สูญเสียไปในช่วงเวลาที่สูบบุหรี่ และช่วยฟื้นฟูระบบอวัยวะภายในให้กลับมาแข็งแรง โดยเฉพาะมะนาว มีผลต่อการทำงานของต่อมรับรสขม ทำให้รสของบุหรี่เปลี่ยนไป วิธีการกิน ให้ตัดมะนาวทั้งเปลือกเป็นชิ้นเล็ก เมื่อรู้สึกอยากบุหรี่ให้กินมะนาว โดยค่อย ๆ เคี้ยวให้ลิ้นรับความรู้สึกขมและเฝื่อนของเปลือกมะนาวอย่างช้า ๆ จะช่วยให้อยากบุหรี่น้อยลง ถัดมาคือ มะขามป้อม เนื่องจากปริมาณของวิตามินซีและแทนนินสูง ผลมะขามป้อม จะมีรสเปรี้ยว ฝาด จึงมีฤทธิ์ทำให้รสของบุหรี่เปลี่ยนไป และรู้สึกไม่อยากบุหรี่เช่นกัน สำหรับวิธีกินให้เคี้ยวผลสด คั้นน้ำดื่ม หรือใช้ผลแห้งชงเป็นชาดื่มก็ได้ 

2) ชาโสม สามารถบำบัดการติดนิโคตินได้ เพราะทำให้การหลั่งโดพามีน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุขลดลง การดื่มชาโสม มีส่วนช่วยลดความพึงพอใจของการสูบบุหรี่ ทำให้รู้สึกเพลิดเพลินน้อยลง 3) นมและผลิตภัณฑ์นม มีการศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี 2550 ในวารสาร Nicotine & Tobacco Research พบว่า การบริโภคนมและผลิตภัณฑ์จากนม ทำให้บุหรี่มีรสขม หรือมีรสชาติแย่ลง ช่วยยับยั้งการสูบบุหรี่ได้ และ 4) หมากฝรั่งไม่มีน้ำตาล (sugar free) และลูกอม ที่ใช้ในการเลิกบุหรี่จะมีสารนิโคตินผสมอยู่ โดยใช้เวลาในการเคี้ยวหรืออมเม็ดละ 30 นาที เพื่อให้นิโคตินละลายออกมาช้า ๆ ช่วยระงับอาการขาดนิโคติน และระงับความอยากบุหรี่ได้

ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มบางชนิด เช่น แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เนื้อสัตว์ และอาหารที่มีน้ำตาลหรือมีรสจัด เพราะอาจช่วยเพิ่มรสชาติของบุหรี่ และกระตุ้นให้เกิดความอยากสูบบุหรี่ ดังนั้น เมื่อสามารถลดหรือเลิกบุหรี่ได้ จะทำให้สุขภาพปอดดีขึ้น ต่อมรับรสที่ลิ้นทำงานดีขึ้นกินอาหารอร่อย หายใจหอมสดชื่น ลดความเสี่ยงโรคต่าง ๆ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้อีกด้วย”