4 ข้อชวนคิดเริ่มผ่อนส่งหนี้สิน ไม่ไหว…ควรทำอย่างไรดี

ในยุคที่ธนาคารพาณิชย์ งัดสารพัดกลยุทธ์มาแข่งขันกันเพื่อปล่อยสินเชื่อเพื่อการใช้จ่าย “สัดส่วนหนี้ครัวเรือน” ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทย สูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย เป็นรองแค่ “เกาหลีใต้” ประเทศเดียว

“ของมันต้องมี อันนั้นอันนี้ก็ต้องใช้” ทำให้หลายคนก่อหนี้เพิ่มขึ้น กระเป๋าเงินล้มละลาย ทั้งแบบตั้งใจกู้ และไม่ได้ตั้งใจกู้เงิน และหากวันนี้ เราเริ่มรู้สึกกำลังอยู่ในสถานการณ์คับขัน…ชักหน้าไม่ถึงหลัง รายได้ที่เข้ามาไม่พอที่จะใช้หนี้

เรามี 4 ข้อชวนคิด ซึ่งอาจจะช่วยให้สามารถตั้ง “สติ” และหาหนทางแก้ไขให้ผ่านจุดวิกฤตนี้ไปได้​

ข้อที่ 1 สำรวจพฤติกรรมการใช้เงิน
มีเงินไม่พอใช้หนี้ แปลว่า มีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย แต่เราจ่ายอะไรบ้าง จ่ายเฉพาะที่สำคัญ จำเป็นหรือไม่ !!
เพื่อให้ “รู้จุดอ่อน” ว่าอยู่ตรงไหน ลองเริ่มทำบัญชีรายรับรายจ่าย ซึ่งเชื่อว่า จะทำให้เราเห็นรายไม่จำเป็น ที่สามารถจะลด ละ เลิก ลงได้ โดยเฉพาะของกินของใช้ฟุ่มเฟือย หรูหราที่เกินจำเป็น รวมทั้งของที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น เหล้า บุหรี่ อีกด้วย

ข้อที่ 2 หารายได้เสริม
ถ้าลองลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงแล้ว แต่เงินรายได้ที่หามาก็ยังไม่พอจ่ายหนี้จริง หนทางต่อไปก็คือ ต้องหารายได้เพิ่มขึ้นซึ่งอาจจะเป็นการขอทำงานล่วงเวลา รับจ๊อบทำงานพิเศษ หรือหารายได้จากความสามารถพิเศษที่มี เช่น ทำขนมขาย รับจ้างซ่อมแซมสิ่งของ หรือทำหัตถกรรม งานฝีมือขาย เป็นต้น​

ข้อที่ 3 ไม่ก่อหนี้เพิ่ม
ข้อนี้สำคัญ เพราะเท่าที่เห็นว่า การตัดสินใจของหลายๆ คนที่จนแต้มไม่สามารถใช้หนี้ได้ คือ การก่อหนี้เพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการขอสินเชื่อใหม่ มาผ่อนส่งหนี้เดิม หรือรูดเงินสดจากบัตรเครดิตต ซึ่งสุดท้่ายกลายเป็น “ดินพอกหางหมู” หนี้เก่าก็ส่งไม่ไหว หนี้ไม่ก็ไม่มีส่ง

ข้อที่ 4 ไม่หนีหนี้ หรือ ปล่อยทิ้งทำเป็นไม่สนใจ
สุดท้าย ​ถ้าเราผ่อนส่งไม่ได้จริงๆ การหนีหนี้ หรือทำเป็นไม่สนใจ อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น เพราะทุกวินาทีที่เราทำเป็นไม่สนใจ จำนวนหนี้ของเราไม่ได้หยุดแค่นั้น แต่จะเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะเมื่อเจ้าหนี้หันไปคิดด้วยดอกเบี้ยปรับที่แพงโหด เพียงไม่กี่เดือนหนี้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก จะแก้ไขตอนนั้นอาจจะไม่ทันเวลา การเผชิญหน้าความจริง เข้าไปคุยกับเจ้าหนี้เพื่อหาทางแก้ปัญหา พักชำระหนี้ ลดค่าผ่อน ขยายระยะเวลา น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด

ส่งท้ายด้วย 2 คำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน คำแรกคือ “รีไฟแนนซ์”​ ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนเจ้าหนี้ หรือไถ่ถอนหนี้จากผู้ให้สินเชื่อเดิม เพื่อมาขอกู้จากผู้ให้สินเชื่อใหม่แทน ซึ่งส่วนใหญ่ทำเพื่อหาอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง

ขณะที่อีกคำคือ “ปรับโครงสร้างหนี้” จะหมายถึง ลูกหนี้ทำตามสัญญากู้เดิมไม่ได้ จึงขอปรับปรุงเงื่อนไขใหม่ เช่น ลดวงเงินผ่อนส่งรายเดือนลง ขยายเวลาผ่อนหนี้ให้ยาวขึ้น หรือขอเวลาปลอดหนี้ชั่วคราว