3 สินค้าจีนแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทยส่งออกไปสหรัฐฯ-อียู

  • หวังหลบเลี่ยงถูกเก็บภาษีเทรดวอร์-มาตรการเอดี/ซีวีดี
  • พาณิชย์พบมีทั้งน้ำผึ้ง สปริงในฟูก และอะลูมิเนียมฟอยล์
  • เดินหน้าเฝ้าระวังต่อเนื่องหวั่นสหรัฐฯ-อียูหาเหตุแบนสินค้าไทย

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้ตรวจสอบการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อการส่งออกอย่างเข้มงวด หลังจากกรมทราบเบาะแส และหน่วยงานศุลกากรของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ได้ประสานขอความร่วมมือมา ซึ่งพบมีสินค้าจากต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะจีน นำเข้ามาไทยแล้วแอบอ้างว่าเป็นสินค้าไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ และอียู เพื่อหวังหลบเลี่ยงการถูกสหรัฐฯ และอียูใช้มาตรการทางการค้า เช่น เรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น โดยได้ติดตามและตรวจสอบสถิติการค้าสำหรับสินค้าเฝ้าระวัง 6 กลุ่ม จำนวน 222 รายการอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1.เครื่องจักรไฟฟ้า 2.เครื่องจักรกล 3.เฟอร์นิเจอร์ 4.พลาสติก 5.ยานยนต์ และ 6.สินค้าไม้และของที่ทำด้วยไม้ ซึ่งเป็นสินค้าภายใต้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน หรือสินค้าที่สหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน และสินค้าที่สหรัฐฯและอียูขึ้นภาษีจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (เอดี/ซีวีดี)

นอกจากนี้ ยังตรวจสอบโรงงานผลิต 14 รายการ จากผู้ประกอบการ 19 ราย ซึ่งพบ 3 สินค้า คือ น้ำผึ้ง สปริงในฟูก แอบอ้างเป็นสินค้าไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ และอะลูมิเนียมฟอยล์ แอบอ้างเป็นสินค้าไทยส่งออกไปอียู ซึ่งประเทศผู้นำเข้าได้ขึ้นบัญชีดำผู้ส่งออกที่แอบอ้างแหล่งกำเนิดไทย และเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มพร้อมค่าปรับจากผู้นำเข้าแล้ว ส่วนกฎหมายของกรม ไม่มีบทลงโทษ แต่กรมจะไม่ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (ซี/โอ) ให้ และเพิ่มความเข้มงวดออกซี/โอด้วย  

“ที่ตรวจพบ มีการแอบอ้างหลายรูปแบบ ทั้งเอาเข้ามาดัดแปลงเพียงเล็กน้อย ล้าง เช็ด เคลือบสี เปลี่ยนเพกเกจ ติดสติกเกอร์ ไม่ได้มีการผลิตเพิ่มเติม หรือใช้สัดส่วนวัตถุดิบที่นำเข้ามากกว่าวัตถุดิบในไทย แล้วเอามาบอกว่าเป็นสินค้าไทย ให้กรมออกใบซี/โอให้ เพื่อให้ได้สิทธิพิเศษทางการค้า อย่างน้ำผึ้ง ปกติไทยส่งน้ำผึ้งแท้ 100% ไปสหรัฐฯ แต่รายที่เจอ เอาไซรับจากจีนมาผสม หรือสปริงในฟูก ก็เอาสปริงจากจีนมาใส่ ไม่ได้ใช้ของไทย หรืออะลูมิเนียมฟอยล์ ก็แค่เอามารีดให้บางลง แล้วตัด ซึ่งแปรสภาพเพียงเล็กน้อย ไม่เพียงพอ ที่จะได้ถิ่นกำเนิดสินค้า พอส่งออกไป ก็ถูกผู้นำเข้าแจ้งมา กรมก็ไปตรวจ และจะเฝ้าระวังบริษัทพวกนี้อย่างเข้มงวดต่อไป เพราะถ้ายังมีปัญหาต่อเนื่อง ก็อาจจะถูกประเทศคู่ค้าแบนสินค้าไทยทั้งประเทศได้” 

นายกีรติ กล่าวต่อว่า กรมจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยแจ้งรายการสินค้าเฝ้าระวังให้แก่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการออกใบซี/โอ รวมทั้งให้ความร่วมมือกับหน่วยงานศุลกากรของประเทศผู้นำเข้า ทั้งสหรัฐฯ อียู เยอรมนี ฯลฯ ตรวจสอบสินค้าที่ส่งออกไปประเทศดังกล่าว โดยในช่วง 9 เดือนปีนี้ ไทยสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มเฝ้าระวังได้มูลค่ากว่า 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แสดงให้เห็นว่า จากการทำงานเชิงรุกในการป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับความเชื่อถือและความมั่นใจจากประเทศคู่ค้าว่าสินค้าที่ส่งออกมาจากไทยเป็นสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดไทยจริง รวมทั้งไม่มีการปลอมแปลงใบซี/โอ ซึ่งส่งผลให้ส่งออกสินค้ากลุ่มเฝ้าระวังได้มากขึ้น