3 จุดเสี่ยงฉุด “เศรษฐกิจติดลบ”

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3-4 ในช่วงนี้ถือว่าหนักหนาสาหัสมาก !!

โดยมีการประเมินกันในขณะนี้ว่า หากเป็นไปตามภาพที่เกิดขึ้นวันนี้ ไม่ได้เลวร้ายลงไปอีก ในเดือน ส.ค.นี้จะเป็นเดือนที่หนักที่สุด มีผู้ติดเชื้อขึ้นไปแตะระดับที่สูงที่สุด ก่อนที่จะเริ่มลดลงและค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น จนสามารถลดมาตรการเข้มงวดได้ในช่วงปลายเดือน ก.ย.หรือต้นเดือน ต.ค. และเข้าสู่สถานการณ์ปกติได้ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

และหากเป็นไปตามสมมติฐานดังกล่าว ซึ่งถือเป็นกรณีฐานของการประเมินภาพล่วงหน้าในขณะนี้ ทุกฝ่ายยังกัดฟันมองในแง่ดีได้ว่า

เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวเป็นบวกได้เล็กน้อย 0-1% เรียกว่า พอประคองตัวรอดไปได้ฉิวเฉียดจากการเกิดภาวะถดถอย หรือ การขยายตัวของเศรษฐกิจที่ติดลบต่อเนื่องอีกปี จากปีที่แล้วที่เศรษฐกิจไทยติดลบ 6.1% แม้ว่า บางแห่งจะมีความเชื่อไปแล้วว่า เศรษฐกิจไทยจะติดลบในปีนี้แล้วก็ตาม

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากต้องการสถานการณ์ดังกล่าวเป็นไปตามสมมติฐาน ที่เราจะรอดพ้นจาก “เศรษฐกิจติดลบ” ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องสบายๆ กล้วยๆ หมูแต่อย่างใด ถือเป็นงานหนักที่ภาครัฐ และเอกชนต้องผลักดันให้เกิดขึ้น และหากพลาดพลั้งเพียงนิดเดียว ครั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้พร้อมที่จะปักหัวดิ่งไปในแดนลบอย่างแน่นอน

แล้วหากต้องการให้เกิดขึ้นได้จริง ปัจจัยบวกจะได้มีอะไรบ้างนั้น จะต้องประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลักๆ และทั้ง 3 ปัจจัยจะต้องเดินหน้าไปในทิศทางที่ “เป็นบวก” มากขึ้นนับจากวันนี้

ปัจจัยยแรก คือ ระยะเวลาในการควบคุม และยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้

เพราะ “ระยะเวลา”ในการยุติการระบาด และลดตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ไปอยู่ในระดับที่รับได้ ทำให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิต “กึ่งปกติ” หรือจะเรียก “ปกติใหม่”อะไรก็ตามแต่ ได้อีกครั้งนั้น จะแปรผันโดยตรงกับ ความเสียหายทางเศรษฐกิจ และมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ รายได้ของประเทศ ของประชาชน

หากใช้เวลาในการล็อกดาวน์ หรือควบคุมการระบาดยาวนาน คนต้องอยู่ในบ้าน ทำงานไม่ได้ ธุรกิจขาดรายได้ คนตกงานจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดแผลลึกในด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา และจำนวนเงินที่จำนวนมากขึ้นในความพยายามฟื้นเศรษฐกิจอีกครั้งหลังโควิด-19

และอีกกรณีที่น่าเป็นห่วงมากคือ หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเข้าสู่จุดวิกฤตที่คนไม่สามารถล็อกดาวน์ได้ รัฐต้องปล่อยให้ออกมาทำงาน ต้องยอมเปิดเศรษฐกิจทั้งที่ยังมีการระบาดในอัตราสูง

ดังนั้น หากยอดผู้ติดเชื้อพีค หรือสูงสุดของโควิดระลอกนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในเดือนส.ค. แต่ยืดระยะออกไปในเดือน ก.ย.หรือ ต.ค.ความเสียหายก็จะเพิ่มขึ้นๆ โดยในการล็อกดาวน์ครั้งแรกในเดือน เม.ย.63 เอกชนได้ประเมินความเสียหายไว้ที่เดือนละ 200,000 ล้านบาท

ในขณะที่การล็อกดาวน์ครั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประเมินความเสียหายกรณีที่สถานการณ์แย่ลงจากประมาณการกรณีฐานไว้ที่ 300,000 ล้านบาท หากโควิด-19 จะอยู่กับเราไปจนถึงสิ้นปี

มาถึง ปัจจัยที่ 2 ที่จะต้องเป็นไปในทิศทางบวกเพิ่มขึ้น คือ ขนาดและประสิทธิผลของมาตรการเยียวยาบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ของภาครัฐ

โดยในการประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของทุกหน่วยงาน มองตรงกันว่า เงินเยียวยา และมาตรการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพ และการทำงานทั้งหลายทั้งปวงของรัฐ เป็น “ทางออก” เดียวของสถานการณ์ขณะนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่การประคองตัวเลขเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้ แต่ยังเป็นทางออกทางเดียว ของหลายๆ คนที่ตกงาน ขาดรายได้ให้ดำรงชีพวิตต่อไปได้

และประเด็นสำคัญที่สุด คือ ทุกหน่วยงานมองตรงกันว่า วันนี้ “มาตรการด้านการเยียวยา” ของรัฐ ยังไม่เพียงพอที่จะรับมือกับโควิด -19 ที่คาดว่าจะใช้เวลาอย่างสั้นอีก 3 เดือน อย่างยาวอีก 6 เดือน ถึงจะสิ้นสุดได้

ไม่ว่าจะเป็นเงินเยียวยาลูกจ้างที่อนุมัติให้แค่ 1 เดือน เงินเยียวยานายจ้าง หรือเงินกระตุ้นการใช้จ่ายในโครงการต่างๆ เช่น คนละครึ่ง หรือยิ่งใช้ยิ่งได้

รัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มวงเงินเยียวยา และเพิ่มมาตรการใหม่ที่จะช่วยให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบไม่มีงานทำสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ หามาตรการเพิ่มขึ้นเพื่อประคองแรงงานที่ยังไม่ตกงานวันนี้ให้ได้ทำงานต่อไป ในขณะเดียวกันจะต้องเร่งพิจารณาและปรับเปลี่ยนเงื่อนไขของโครงการต่างๆที่ใช้อยู่แล้ว

วันนี้ หากรัฐบาลคง “เงินเยียวยา” และมาตรการเยียวยาไว้ที่เดิม ผลที่ได้จะถอยหลังลงคลอง เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรงกว่าที่คิดไว้ จะกู้เงินเพิ่ม หรือทำอย่างไร นักเศรษฐศาสตร์ก็พร้อมที่จะชูมือเชียร์ เพียงแต่เงินที่ใส่ไปจะต้องเป็นโครงการที่ตรงจุดตรงประเด็น ไม่เป๋ ไม่เอียง ตรวจสอบให้ดีอย่าให้มีทุจริตเท่านั้น

ขณะที่ ปัจจัยที่ 3 ที่ต้องจับตา ก็คือ ภาคการส่งออก ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงตลอดเวลาที่ผ่านมา โดย 6 เดือนแรกของปีนี้ ท่ามกลางโควิด-19 ระลอก 2 และระลอกที่ 3 การส่งออกของไทยขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 19% จากระยะเดียวกันปีก่อน

เนื่องจากมีคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังหลายประเทศอุตสาหกรรมหลักของโลกฟื้นตัว จากการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในจำนวนที่มากเพียงพอที่จะกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง อีกทั้ง การโหมเงินเยียวยาระลอกใหญ่ๆ หลายครั้งในสหรัฐ ทำให้อเมริกันชนมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอย

โดยล่าสุด คำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ในด้านการผลิตกลับเริ่มมีปัญหา โดยธปท.มองความเสี่ยงของการส่งออกของไทยไว้ 3 ด้าน คือ 1.ผลกระทบจากการแพร่ระบาดในโรงงานที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทำให้บางโรงงานต้องหยุดผลิตชั่วคราว 2. ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ยังมีต่อเนื่องและ 3.ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์รุนแรงต่อเนื่อง ผู้ประกอบการบางรายจึงพิจารณาย้ายสายการผลิตไปอยู่ใกล้ประเทศคู่ค้า

และอีกจุดที่สำคัญ และเป็นความเสี่ยงของการขยายตัวส่งออกของไทย คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่กำลังหวลกลับไปสร้างปัญหาให้กับประเทศเศรษฐกิจหลัก เพราะล่าสุด สหรัฐฯเองยอมรับว่า โควิดเดลตา ได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักในการระบาดในสหรัฐแล้ว และวัคซีนเทพ อย่างไฟเซอร์ และโมเดอน่า ก็มีประสิทธิภาพลดลงเช่นกันเมื่อเจอ “เดลตา”เต็มๆ

ถ้าเศรษฐกิจโลกกลับไปเผชิญหน้ากับผลกระทบของการระบาดจากโควิดอีกครั้ง แน่นอนว่า การส่งออกของไทยที่เป็นขาขึ้น อาจจะทำได้แค่ประคองตัวได้ต่อไป แต่คงไม่สามารถเป็นเครื่องจักรที่ใช้ดึง “ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย”ในปีนี้ไม่ให้ติดลบได้

เหลืออีก 5 เดือน ปีที่โหดร้ายที่สุดปีหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทยก็จะผ่านไป !!!

แต่เราจะผ่านไปด้วยผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากเท่าไร มีจำนวนคนเสียชีวิตมากแค่ไหน และเศรษฐกิจไทยจะต้องทุกข์ยากอย่างไร การขยายตัวปีนี้จะติดลบเป็นปีที่ 2 หรือไม่ นอกเหนือจากต้องช่วยกันทำตามมาตรการป้องกันโรคให้เข้มงวดที่สุดแล้ว ยังต้องช่วยกันสวดมนต์ภาวนา!!

#TheJournalistClub #โควิด19 #วัคซีนโควิด #เศรษฐกิจคิดง่าย