วิกฤติสายการบินทั่วโลกระส่ำ! ปี2561-62 ปิดกิจการแล้ว 41 แห่ง

  • ปี 2562 ปิดกิจการไปแล้ว 23 แห่ง
  • ราคาน้ำมันพุ่ง ค่าแรงขยับ การแข่งขันรุนแรง
  • กำไรทั้งปี 2562 สายการบินทั่วโลก 28,000 ล้านดอลลาร์ ลดลง 12.5% จากปี 2561

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Allplane.tv ซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์ด้านการบิน ได้รวบรวมรายชื่อสายการบินที่ปิดตัวในปี 2562 ไว้มากถึง 23 แห่ง (ข้อมูล ณ 20 ตุลาคม 2562) หลังจากที่ธุรกิจการบิน ต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งต้นทุนน้ำมันและบุคคลากร พบว่า 23 สายการบินที่ปิดตัวในปี 2562 ประกอบด้วย Germania (เยอรมัน), California Pacific (สหรัฐอเมริกา), Flybmi (อังกฤษ), Insel Air (Curacao), Tajik Air (ทาจิกิสถาน), Asian Express Airline (ทาจิกิสถาน), WOW (ไอซ์แลนด์), Aerolineas de AntioQuia (โคลัมเบีย), Fly Jamaica Airways (จาไมก้า) , Air Philip (เกาหลีใต้), Jet Airways (อินเดีย), Wisdon Airways (ไทย), Avianca Brasil (บราซิล), Avianca Argentina (อาร์เจนติน่า), Al Naser Wings Airlines (อิรัก), Aigle Azur (ฝรั่งเศส), XL Airways (ฝรั่งเศส), Thomas Cook (อังกฤษ), Adria (สโลวิเนีย), Peruvian Airliens (เปรู), New Gen Airways (ไทย), Via Airlines (สหรัฐอเมริกา), และ TAM (โบลิเวีย)

หากนับรวมการปิดตัวของสายการบินทั่วโลกในปี 2561 พบว่ามีสายการบินปิดตัวตั้งแต่ปี 2561 ถึงปี 2562 แล้วรวมทั้งสิ้น 41 แห่งทั่วโลก(ปี 2561 มีสายการบินปิดตัวไป 18 แห่งทั่วโลก)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาสายการบินแอฟริกาใต้(South Africa Airline: SAA) ได้ประกาศปลดพนักงาน 20% เป็นหนึ่งในแผนการปรับโครงสร้างเพื่อหยุดการขาดทุน จากจำนวนพนักงานทั้งหมด 5,150 คน สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงาน

นายซุก รามิเซีย (Zuks Ramasia)รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสายการบินแอฟริกาใต้ ระบุว่า สายการบินต้องปรับโครงสร้างอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดทุนที่เกิดขึ้น การปรับโครงสร้างการบินของแอฟริกาใต้ที่เสนอจะรวมถึงทุกแง่มุมของสายการบิน แต่จะไม่มีผลกระทบใด ๆ กับ บริษัท ย่อยของ Mango Airlines หรือสายการบำรุงรักษาด้านเทคนิคของสายการบินแอฟริกาใต้

ขณะที่สายการบินเซาท์แอฟริกัน ได้หารือเกี่ยวกับวิธีการปรับโครงสร้างของสายการบินอาจดำเนินต่อไปจนถึงเดือนมกราคม 2563 โดยระบุว่า สายการบินพยายามลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพนักงาน

ส่วนสายการบินของประเทศไทยนั้น ได้มีความพยายามในการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาขาดทุน โดยไตรมาส 2 ปี 2562 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีผลการดำเนินงานขาดทุน 6,877.62 ล้านบาท เช่นเดียวกับ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ ที่มีผลการดำเนินงานขาดทุน 693.9 ล้านบาท และล่าสุด บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด(มหาชน) ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเซีย ประกาศผลการดำเนิงานไตรมาสสามปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 416.63 ล้านบาท และงวด 9 เดือนของปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 401.9 ล้านบาท

สถานการณ์ของธุรกิจการบินมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างรุนแรงตั้งแต่ปี 2561-2562 เกิดอะไรขึ้น..กับอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มสดใส และเติบโตตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ?

ขณะที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)ได้ระบุถึงปัจจัยที่กำลังฉุดรั้งการเติบโตอุตสาหกรรมสายการบินโลก ว่ามีหลายองค์ประกอบเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการขยับตัวสูงขึ้นของราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็นต้นทุนกว่า 20-30 %ของสายการบิน และเป็นต้นทุนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าต้นทุนเชื้อเพลิงต่อสัดส่วนค่าใช้จ่ายของสายการบินจะมีแนวโน้นลดลง แต่ช่วง 4 ปีที่ผ่านมากลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จากราคาเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้นจากปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ และการเมืองระหว่างประเทศ นอกจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ขยับสูงขึ้นแล้ว ต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นจากภาวะขาดแคลนแรงงาน ยังเป็นอีกปัจจัยที่มีผลกระทบต่อธุรกิจการบินทั่วโลก

หากเทียบชัดๆ ตัวอย่างเช่น จากเดิมที่เที่ยวบินหนึ่งมีต้นทุนให้บริการ 100,000 บาทต่อเที่ยวในปี 2559 ในจำนวนนี้จะแบ่งไปจ่ายค่าเชื้อเพลิงเครื่องบิน 19,100 บาท แต่ในปีนี้สายการบินต้องจ่ายค่าเชื้อเพลิงถึง 25,000 บาท มีส่วนต่างที่เกิดขึ้นเกือบ 6,000 บาท

นอกจากนี้ยังมีค่าจ้างบุคลากร กลายเป็นต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลง หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 ต้นทุนค่าแรงบุคลากรของสายการบินยังต่ำกว่าค่าเชื้อเพลิง แต่ปัจจุบันต้นทุนค่าแรงบุคคลากรของสายการบินได้สูงขึ้นได้ทิ้งห่างเชื้อเพลิงไปแล้วกว่า 10 %โดยประเมินว่าค่าแรง เป็นเม็ดเงินที่สายการบินต้องจ่ายให้พนักงานถึง 35% ของต้นทุนทั้งหมด

ทำไมค่าแรงจึงเพิ่มสูงขึ้น?

เหตุผลหลักคือ การเติบโตของอุตสาหกรรมการบินที่ก้าวกระโดดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สวนทางกับการผลิตบุคคลากรที่ไม่เพียงพอกับความต้องการทำให้เกิดการแย่งบุคคลากร ในธุรกิจนี้ ผลักให้ต้นทุนค่าแรงของบุคคลากรด้านการบินขยับสูงขึ้น

“ในขณะที่สายการบินพยายามเร่งทำกำไร คนที่กุมอำนาจในตลาดกลับเป็นแรงงาน และนั่นคือปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น,”Brian Pearce หัวหน้างานด้านเศรษฐศาสตร์ IATA กล่าว

“นักบิน” เป็นกลุ่มบุคลากรที่สายการบินทั่วโลกกำลังขาดแคลน ในที่นี้หมายถึง นักบินที่มีประสบการณ์ด้านการบิน ไม่ใช่นักบินจบใหม่ที่ชั่วโมงบินน้อยๆ เนื่องจากสายการบินต้องการคนที่เชี่ยวชาญและสามารถทำงานได้ทันที ทำให้สายการบินขนาดใหญ่ ต่างเสนอค่าตอบแทนที่ดึงดูดนักบินเหล่านี้จนเกิดเป็นสงครามการตลาด

ผลการสำรวจอัตราค่าแรงของนักบินทั่วโลก พบกว่า ค่าตอบแทนเฉลี่ยของนักบินซึ่งมีประสบการณ์ 5 ปีสำหรับสายการบินจากตะวันออกกลาง จะได้รับผลตอบแทนสูงกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณเดือนละกว่า 500,000 บาท ในขณะที่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ย 140,340-126,000ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี หรือประมาณ 360,000 บาทต่อเดือน

อัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นของสายการบินจากตะวันออกกลาง ทำให้นักบินจำนวนมากจึงหลั่งไหลไปทำงานในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านการบินที่เชื่อมทวีปเอเชียกับยุโรปและยังเป็นศูนย์กลางของสายการบินขนาดใหญ่ นอกจากนี้บางส่วนยังเข้าไปทำงานในประเทศจีน ที่อุตสาหกรรมการบินเติบโตอย่าง จากภาวะนี้ทำให้สายการบินหลายแห่งในอเมริกาเหนือและยุโรปได้รับผลกระทบ จนต้องยกเลิกเที่ยวบินอยู่หลายเหตุการณ์จากเหตุนักบินไม่เพียงพอ

ปัจจุบัน มีนักบินพาณิชย์ทั่วโลกอยู่ประมาณ 300,000 คน ส่วนใหญ่อายุเฉลี่ย 43.7 ปี มีการประเมินว่าในช่วง 20 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะมีความต้องการนักบินถึง 700,000-800,000 คน ซึ่งจะยิ่งทำให้การแย่งนักบินมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

สายการบินต้นทุนต่ำ เพิ่มจำนวนที่นั่ง มากกว่าผู้ใช้บริการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากเว็บไซต์จำหน่ายตั๋วเครื่องบินรายใหญ่ของโลก ระบุว่า ราคาตั๋วเครื่องบินเส้นทางภายในประเทศสหรัฐอเมริกา ประจำเดือนตุลาคม 2562 ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี โดยลดลงร้อยละ 3.1 หรือเฉลี่ยไปกลับ 6,500 บาทเท่านั้น (211 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เมื่อเทียบกับเวลาบินถึง 3-4 ชั่วโมง ปัจจัยหลักคือสายการบินต้นทุนต่ำที่มีจำนวนมาก ทำให้เกิด “อุปทานส่วนเกิน” หรือที่นั่งมีมากกว่าความต้องการเดินทาง ทำให้สายการบินต่างๆ ต้องตัดราคากันเอง เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการ

“ราคาตั๋วเครื่องบินภายในประเทศสหรัฐอเมริกาในเดือนตุลาคม 2562 ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี จากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งนำไปสู่สงครามด้านราคาของสายการบิน” ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินในสหรัฐอเมริกากล่าว

สถานการณ์นี้อาจดูเป็นผลดีต่อผู้บริโภคในระยะสั้น-ปานกลาง เพราะการแข่งขันที่รุนแรง ย่อมทำให้ราคาตั๋วเครื่องบินลดลง แต่หากการตัดราคาจนทำให้สายการบินแบกรับต้นทุนได้ยาก ย่อมส่งผลต่อเสถียรภาพการให้บริการเช่นกัน

เมื่อมองย้อนกลับมาในเมืองไทย สถานการณ์ลักษณะนี้ก็เริ่มเห็นภาพชัดขึ้นเช่นกัน ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ค่าโดยสารเส้นทางภายในประเทศไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2562 ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พบว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนที่ผ่านมา มีสายการบินยกเลิกเส้นทางบินในประเทศ 17 เส้นทาง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสะท้อนถึงการลดความสามารถในการให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศในภาพรวมจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง

นักวิเคราะห์ทั้งจากผู้ผลิตเครื่องบิน เจ้าของสายการบิน และนักเศรษฐศาสตร์ มองว่า ภาวะยากลำบากของธุรกิจสายการบินเช่นนี้ จะยังคงอยู่ต่อไปหากปัจจัยหลักทั้ง 3 ยังไม่เอื้อให้เติบโต แม้จะมีความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้นก็ตาม

“IATA คาดการณ์ว่าในปี 2562 สายการบินทั่วโลกจะมีกำไรรวม 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจาก 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีที่แล้ว โดยสายการบินจะได้กำไรจากผู้โดยสารเฉลี่ยเพียงคนละ 187 บาทต่อเที่ยวบินเท่านั้น (6.12 ดอลลาร์สหรัฐฯ)”

ปัจจัยเรื่องต้นทุนเชื้อเพลิงอาจเป็นสิ่งที่ยากเกินกว่าสายการบินจะควบคุมได้ ขณะที่ปัญหาค่าแรง หลายสายการบินขนาดใหญ่ หาทางออกด้วยการเปิดศูนย์ฝึกเป็นของตัวเอง หรือร่วมมือกับศูนย์ฝึกบุคลากรด้านการบิน เพื่อผลิตแรงานป้อนธุรกิจของตัวเอง แน่นอนว่าการลงทุนอาจต้องใช้งบประมาณที่สูง แต่ผู้ประกอบการก็มองถึงผลลัพท์ที่คุ้มในอนาคต

ส่วนปัญหาอุปทานส่วนเกิน ปัจจุบันสายการบินหลายแห่งได้ใช้วิธีควบรวมกิจการให้เป็นสายการบินเดียวที่มีขนาดใหญ่และทำตลาดด้วยกัน ดังที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา เช่น กรณีการควบรวมของกลุ่ม American Airlines กับ AMR Corporation และ US Airways Group ทำให้สามารถกลับมาชิงส่วนแบ่งการตลาดได้ถึง 17.7% ในปีนี้

“ช่วงนี้เป็นช่วงของการปรับตัวของสายการบินทั่วโลก สิ่งที่เราจะเห็นนับจากนี้คือ การควบรวม การปรับโครงสร้างของแต่ละสายการบิน รวมถึงความร่วมมือของสายการบินพันธมิตร เพื่อให้การบริหารจัดการสายการบินมีความเหมาะสมกับสภาพของตลาดรวม เพื่อที่จะให้สายการบินแต่ละแห่งสามารถผ่านช่วงเวลาวิกฤติไปได้ ซึ่งคงต้องมาดูกันว่าแต่ละสายการบินจะปรับตัวอย่างไร เพื่อให้อยู่รอดในภาวะที่คลื่นของการเปลี่ยนแปลงโหมกระหน่ำในปัจจุบัน”