1พ.ย.62 “ดีอีเอส” ดีเดย์!เปิดศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

  • “พุทธิพงษ์“ถือฤกษ์ดีทำงานครบ 104 วัน
  • เปิดตัวศูนยย์ต่อต้านข่าวปลอม Anti-Fake News
  • สตช.ย้ำ ถูกหลอกลวงออนไลน์ โทร.แจ้ง 1599 ก่อนค่อยไปสน.ใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางมาปอท.ที่กรุงเทพฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2562 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ถือฤกษ์ดีทำงานครบ 104 วัน ในวันที่ 1 พ.ย.2562   เปิดตัวศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (ANTI – Fake News) ขณะที่พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดตัวศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร) หรือ Police Cyber Taskforce :PCT เช่นเดียวกัน  เพื่อร่วมมือกันตรวจสอบข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จผ่านออนไลน์ หรือสังคมโซเซียล ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและความมั่นคงประเทศ

โดยนายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า  ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม จะช่วยกลั่นกรอง ตรวจสอบข้อมูลข่าว 4 กลุ่ม คือ 1.ภัยพิบัติ เช่น สึนามิ เขื่อนแตก  2.เศรษฐกิจ เช่น แชร์ลูกโซ่ แชร์ออนไลน์  3.ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่มีลักษณะเชิญชวนให้ประชาชนหลงเชื่อ 4. นโยบายรัฐบาล ซึ่งมีการสื่อสารข้อมูลที่บิดเบือนและบางครั้งมีการตัดต่อทำให้ได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน เป็นต้น  โดยการคัดกรอง ข่าวนั้นเป็นข่าวปลอม จะยึดหลักว่าข่าวที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง และกรณีเกิดข่าวปลอม ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจะรวบรวบข้อมูลและส่งข้อมูลที่ถูกต้องภายใน 2 ชั่วโมง เพื่อมิให้ประชาชนเข้าใจผิดอีกต่อไป

“เราต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ โลกออนไลน์ แพร่กระจายข่าวสารรวดเร็วมาก ในแต่ละวันมีเนื้อหาที่เผยแพร่อยู่บนออนไลน์มากกว่า 300,000 ข่าว แบ่งเป็นข่าวเชื่อถือได้ 30% ส่วนอีก 70% เป็นข่าวที่เชื่อถือไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องคัดกรองข่าว และต่อต้านข่าวปลอม โดยกระทรวงดีอีเอส ได้มอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาช่วยกรองข่าว นำบุคลากรมาช่วยกรองข่าวให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เบื้องต้นในเงินงบประมาณปี 2563ราว 50-60 ล้านบาท และผมขอย้ำว่า การตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ไม่ได้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของใครในกรณีที่แสดงความคิดเห็นบนโซเซียล  หากความเห็นนั้น ไม่มีการไปกล่าวถึงให้ผู้อื่นเสียหาย และไม่มีเจ้าทุกข์ไปแจ้งความ และไม่ได้ใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานใครทางการเมืองเด็ดขาด”

ขณะที่พล.ต.อ. สุวัฒน์ กล่าวว่า สตช.จะทำงานร่วมกับกระทรวงดีอีเอส อย่างบูรณาการ เพราะทุกวันนี้ภัยอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตลอดเวลา เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่โทรศัพท์หลอกลวงในหลายๆกรณี กรณีการป่วนระบบการลงทะเบียนชิมช้อปใช้ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ภัยออนไลน์ เพิ่มขึ้นทุกวัน และปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ  ดังนั้นตำรวจก็ต้องปรับตัวและทำงานแบบเชิงรุก เพื่อรับมือกับอาชญากรรมทางไชเบอร์

“ยอมรับว่าทุกวันนี้  กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) รับแจ้งคดีเกี่ยวกับความผิดทางคอมพิวเตอร์ ออนไลน์ จำนวนมาก  ดังนั้นศูนย์PCTก็จะมาช่วยแก้ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลให้ประชาชนอีกช่องทางหนึ่ง ขณะเดียวกันได้เปิดคอนเซ็นเตอร์ให้ประชาชนได้ปรึกษารูปแบบคดีก่อน ที่เบอร์โทร.1599 เพื่อจะได้ไม่ต้องเดินทางมาที่ ปอท. ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์ราชการกรุงเทพฯ เมื่อโทร.ร้องทุกข์ที่ 1599 แล้ว เจ้าหน้าที่จะแนะนำ เพื่อให้ไปแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจใกล้บ้านต่อไป”