ไอเอ็มดี ระบุ “ขีดแข่งขันทางเศรษฐกิจไทย” ทรุด จากอันดับที่ 25 มาอยู่ที่ 29

  • เศรษฐกิจภายในประเทศถดถอย
  • ขาดความสามารถในการดึงดูดทุนจากต่างประเทศ
  • ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระยะยาว

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีเอ็มเอ (TMA) เผยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศจาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2563 ที่สำรวจและจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทั้งหมด 63 ประเทศทั่วโลก ระบุว่าประเทศไทย มีผลคะแนนสุทธิลดลงจาก 77.233 มาอยู่ที่ 75.387 ส่งผลให้ผลการจัดอันดับของประเทศไทยลดลง 4 อันดับ จากอันดับที่ 25 ลงมาอยู่ที่อันดับที่ 29 ใกล้เคียงกับอันดับในปี 2561 ซึ่งอยู่ที่อันดับที่ 30

การสำรวจดังกล่าวนำเอาปัจจัยหลักที่เป็นตัวชี้วัด 4 ด้านประกอบด้วย ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานสมรรถนะทางเศรษฐกิจ และ ประสิทธิภาพของภาครัฐ 

ผลการให้คะแนนพบว่า ผลการจัดอันดับดีขึ้น 2 ด้าน 1.ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ดีขึ้น 4 อันดับ จากอันดับที่ 27 มาอยู่ที่อันดับ 23 และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ดีขึ้น 1 อันดับ จากอันดับที่ 45 มาอยู่ที่อันดับ 44

ในขณะที่อีก 2 ด้านคือ 1.สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ลดลง 6 อันดับ จากอันดับที่ 8 มาอยู่อันดับที่ 14 และ 2.ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ลดลง 3 อันดับ จากอันดับที่ 20 มาอยู่อันดับที่ 23

สำหรับประเทศที่มีขีดแข่งขัน สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ ยังคงเป็นอันดับ 1 อันดับที่ 2 ได้แก่ เดนมาร์กที่เพิ่มขึ้น 6 อันดับจากปีที่แล้ว อันดับ 3 สวิตเซอร์แลนด์ อันดับ 4 เนเธอร์แลนด์ และอันดับ 5 ฮ่องกง ทั้งนี้ IMD ทำการสำรวจและจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทั้งหมด 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก

ในกลุ่มอาเซียนที่ได้รับการจัดอันดับ พบว่า 4 ประเทศ มีอันดับลดลงเป็นส่วนใหญ่ โดยมาเลเซียลดลง 5 อันดับอยู่ที่อันดับ 27 อินโดนีเซียลดลง 8 อันดับอยู่ที่อันดับ 40 ขณะที่ฟิลิปปินส์อันดับเพิ่มขึ้น 1 อันดับ อยู่ที่อันดับ 45

นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธาน TMA กล่าวว่า ผลการจัดอันดับของไทยในภาพรวมลดลง เนื่องมาจากการถดถอยลงของสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ การขาดความสามารถในการดึงดูดทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งแนวโน้มปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระยะยาว

อีกด้านหนึ่งก็คือประสิทธิภาพของภาครัฐ การถดถอย โดยหลักนั้นอยู่ที่กรอบนโยบาย กฎหมายและแนวทางการบริหารงานของสถาบันหลักต่างๆในการบริหารประเทศ รวมทั้งสถานะการคลังที่ถดถอยลง