ไม่เป็นอย่างที่คาด!คนจีนถูกกักตัวโหยหาอยากกินทุเรียน

  • ดันยอดส่งออก 4 เดือนโต 30-40%
  • สวนทางแนวคิดว่าปีนี้จะส่งออกไม่ได้
  • เครือซีพีประกาศรับซื้อทุเรียนชายแดนใต้

นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า จังหวัดยะลาได้ร่วมกับสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เปิดแหล่งรับซื้อและกระจายทุเรียนฤดูกาลปี2563 ด้วยราคา 100 บาทต่อกก. สูงกว่าราคาในรับซื้อในตลาด เพื่อดึงราคาในพื้นที่ให้สูงขึ้น โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชาในจังหวัดชายแดนใต้หรือโครงการทุเรียนคุณภาพที่ทางจังหวัดร่วมกับสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริมาตั้งแต่ปี 2561 ที่จะช่วยผลักดัน จ.ยะลาให้ไปถึงเป้าหมายการเป็นเมืองทุเรียน หรือทุเรียนซิตี้ โดยการเป็นพื้นที่ปลูกทุเรียนคุณภาพควบคู่กับการบริหารจัดการเชิงธุรกิจ มีบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ช่วยดูแลเรื่องการตลาดส่งออกไปยังประเทศจีน


“ที่ผ่านมาลักษณะการปลูกของเกษตรกรจะเป็นการปล่อยให้ออกตามธรรมชาติแล้วขายยกสวน ขาดการดูแล ขายไม่ได้ราคาเหมือนกับทุเรียนทางภาคตะวันออก ปริมาณการปลูกทุเรียนในพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอของยะลามีพื้นที่ยืนต้น 73,890 ไร่ พื้นที่ให้ผล 53,621 ไร่ ผลผลิตรวมปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 53,031 ตัน เพิ่มจากปีที่ผ่านมาที่ให้ผลผลิตประมาณ 42,000 ตัน เนื่องจากเกษตรกรลดการปลูกพืชอื่นแล้วหันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้นตามความต้องการของตลาด”


ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า ในช่วงเริ่มโครงการในปี 2561 ยังมีความกังวลว่าการทำงานในพื้นที่จะเป็นไปไม่ได้ แต่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่มีศักยภาพสูงทั้งในแง่ของทรัพยากรและคน ที่ให้โครงการเดินมาได้อย่างดี ซึ่งเวลานี้จีนปิดเมืองมานาน คนก็จะอยากบริโภคทุเรียนปีนี้ราคาเป็นที่น่าพอใจ ประชาชนจะได้ประโยชน์เต็มที่เพราะทุเรียนได้รับการทุเรียนให้ได้คุณภาพดีซึ่งจะได้ราคาดี เชื่อว่าถ้ามีการดูแลให้ดีอย่างต่อเนื่องต่อไปทุเรียนใต้จะเป็นอันดับหนึ่งของประเทศได้


นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า จากโครงการนำร่องในจังหวัดยะลาในปี 2561 ผู้ร่วมโครงการ 18 ราย ผลิต 33.4 ตัน สร้างรายได้เกษตรกรผู้ร่วมโครงการ 2.3 ล้านล้านบาท เริ่มขยายพื้นที่ในปี 2562 ไปยังอำเภอต่างๆ ในจ.นราธิวาสและปัตตานี จน ณ ปี 2563 ครอบคลุม 14 อำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีเกษตรกรที่ร่วมโครงการ 625 ราย ต้นทุเรียนตามโครงการ 29,201 ต้น คาดว่าผลผลิตจะอยู่ที่ 1,778 ตัน โดยจะทยอยเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนมิ.ย. และมากที่สุดในเดือนก.ค. และสิ้นสุดในเดือนก.ย. โดยราคารับซื้อทุเรียนเกรด AB อยู่ที่ 100 บาทต่อกก. และเกรดต่ำกว่าก็ราคาลดหลั่นลงมา คาดว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรในโครงการมากกว่า 160 ล้านบาทซึ่งสูงเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2562 แยกเป็นยะลา 147 ล้านบาท นราธิวาส 8 ล้านบาท และปัตตานี 5 ล้านบาท ส่วนการบริหารจัดการเพื่อส่งออกนั้น ปิดทองหลังพระฯ จะร่วมกับจังหวัดยะลารวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรทั้ง 3 จังหวัด คัดแยกก่อนจะส่งไปศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าของบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ที่จังหวัดชุมพร ทางบริษัทดำเนินการขนส่งไปลงเรือที่ท่าเรือแหลมฉบังและส่งไปขึ้นฝั่งที่เมืองกวางโจว ประเทศจีนต่อไป

นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ทางซีพีจะรับซื้อทุเรียนจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตามโครงการของปิดทองหลังพระฯ ไว้ทั้งหมด ซึ่งปีนี้บริษัทได้ให้โควตา 100 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือประมาณ 1,800 ตัน ถือเป็นปริมาณเกือบครึ่งหนึ่งที่ซีพีส่งออกอยู่ 250 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือ 4,500ตัน


“ความต้องการทุเรียนในตลาดจีนยังสูงมาก เห็นได้จากการปลูกทุเรียนในไทยที่ให้ผลิตผลิตรวมทั้งประมาณราว 900,000 ตัน ส่งออกอยู่ 85% เกือบทั้งหมดก็ส่งออกไปจีน ซึ่งเวลานี้ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่ายอดขายคงตกและคงไม่ได้ราคาเพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่จะทำให้กำลังซื้อคนน้อยลง แต่ปรากฏว่าตรงกันข้าม การที่ทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้านและคิดดูว่าคนจีนมากขนาดไหนที่เขาไม่ได้ออกไปเที่ยวและใช้จ่ายเงิน เขายังเหลือเงินที่จะมาซื้อของเหล่านี้ ยอดคำสั่งทุเรียนจึงสูงขึ้นมา โดยยอดส่งออกโดยรวม 4 เดือนแรกโตขึ้น 30-40% หลักๆ คือมาจากจีน จึงถือเป็นโอกาสทองของคนปลูกทุเรียนสำหรับปีนี้ ซึ่งถ้าตลาดปีนี้ ปีหน้าโตดับเบิ้ลที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็จะโตดับเบิ้ลเหมือนกัน”